Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนาวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา และทดสอบประสิทธิผลหลักสูตร การเรียนรู้แบบบูรณาการเพื่อเสริมสร้างหน้าที่บริหารจัดการของสมองสำหรับวัยรุ่น (EEFs-Ado) การวิจัย แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษากรอบแนวคิด ทฤษฏี องค์ประกอบ การประเมินและการพัฒนาหน้าที่บริหารจัดการของสมองสำหรับวัยรุ่น ระยะที่ 2 การพัฒนามาตรวัดหน้าที่บริหารจัดการของสมองด้วยการสำรวจพฤติกรรม-แบบรายงานตนเอง (BRIEF-SR) ฉบับภาษาไทย และหลักสูตร EEFs-Ado ระยะที่ 3 การทดสอบประสิทธิผลของหลักสูตร EEFs-Ado กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 1 ปีการศึกษา 2559 ภาคเรียนต้น จำนวน 58 คน ที่สมัครใจและยินยอมเข้าร่วมโครงการวิจัย สุ่มอย่างง่ายโดยการจับฉลากเป็นกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 29 คน กลุ่มทดลองได้รับการอบรมหลักสูตร EEFs-Ado สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ๆ 50 นาที รวม 9 ครั้ง และประเมินความพึงพอใจส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการเรียนการสอนปกติจากทางโรงเรียน กลุ่มตัวอย่างได้รับการประเมินหน้าที่บริหารจัดการของสมองด้วย BRIEF-SR ฉบับภาษาไทย ในระยะก่อนการทดลอง ระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผล 4 สัปดาห์วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำหนึ่งตัวแปรระหว่างกลุ่มและหนึ่งตัวแปรภายในกลุ่มทดสอบความแตกต่างรายคู่แบบนิวแมน-คูลส์ ผลการวิจัยพบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการทดลองและระยะเวลาการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) วัยรุ่นที่ได้รับหลักสูตร EEFs-Ado มีคะแนนเฉลี่ยความบกพร่องของหน้าที่บริหารจัดการของสมองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมทั้งในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) วัยรุ่นที่ได้รับหลักสูตร EEFs-Ado มีคะแนนเฉลี่ยความบกพร่องของหน้าที่บริหารจัดการของสมองในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลน้อยกว่าก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .05) สรุปได้ว่า หลักสูตร EEFs-Ado มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างหน้าที่บริหารจัดการของสมองของวัยรุ่นระยะที่ 4 การประเมินความพึงพอใจและปรับปรุงคุณภาพของหลักสูตร EEFs-Ado ผลการวิจัย พบว่า วัยรุ่นมีความพึงพอใจต่อหลักสูตรในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (X=4.52, SD= .74) และวัยรุ่นสะท้อนคิดว่ามีความสุข สนุกสนาน ได้ฝึกทักษะสำคัญของ EFs ที่สามารถนำไปใช้เสริมสร้าง EFs ในชีวิตประจำได้อย่างต่อยั่งยืน นอกจากนี้วัยรุ่นต้องการ ให้มีการอบรมเพื่อเสริมสร้าง EFs อย่างต่อเนื่อง และควรขยายผลไปยังนักเรียนชั้นอื่น ๆ ต่อไป