Abstract:
งานวิจัยนี้วัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินปัญหาการเข้ารับและให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลของรัฐจากพระสงฆ์ 2) เพื่อเสนอแนะแนวทางบริหารจัดการของสถานพยาบาลของรัฐในระดับทุติยภูมิลงไป เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของพระสงฆ์ ผ่านกระบวนการโดยดำเนินการวิจัย 2 ขั้นตอน คือขั้นที่ 1 วิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เพื่อประเมินปัญหาการให้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐกับกลุ่มตัวอย่างพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศจำนวน 630 รูป ขั้นที่ 2 ทำการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) ด้วยกระบวนการประชุมกลุ่ม (Focus group) กับ
กลุ่มตัวอย่างผู้เชี่ยวชาญในการบริหารจัดการสถานพยาบาลและเข้าใจในระเบียบวินัยของพระภิกษุได้แก่ตัวแทนผู้บริหาร โรงพยาบาลชลบุรีและโรงพยาบาลสงฆ์ (ตัวแทนสถานพยาบาลที่มีการจัดบริการแยกสำหรับพระภิกษุ), ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม, ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จำนวน 10 ท่าน ผลการศึกษาการประเมินปัญหาการให้บริการสถานพยาบาลของรัฐเทียบมิติของห่วงโซ่คุณค่าพบว่าค่าเฉลี่ย
ในทุก ๆ ด้านอยู่ในระดับน้อย ในด้านโครงสร้างทั่วไปในสถานบริการ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.25 ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.57 ด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.56 ด้านการจัดซื้อ ยาและเวชภัณฑ์มีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 2.48 ด้านการจัดการความสะดวกภายในสถานพยาบาลมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.56 ด้านการจัดการปฏิบัติการในการรักษา มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.45 ด้านการบริการภายนอกสู่ผู้รับบริการ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.19 ด้านการรับรู้ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.14 และด้านการบริการมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.02และมีรายละเอียดของปัญหาในแต่ละมิติที่แตกต่างกันไป
ผลการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อเสนอแนะแนวทางสำหรับโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิลงไปเพื่อสนับสนุนการรักษา พยาบาล มีแนวคิดคือ ควรออกนโยบายในการบริหารจัดการภายในเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พระสงฆ์ เช่น จัดสรรช่วงเวลา สำหรับสถานที่ บุคลากร และออกหน่วยตรวจเยี่ยมพระสงฆ์ รวมถึงสนับสนุนให้จัดทำบัญชีระบุตัวตนของพระภิกษุ ที่มาจำวัด และให้ข้อมูลด้านสิทธิการรักษา รวมถึงจัดตั้งเงินกองกลางของวัด เพื่อเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทาง