Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาหาความสัมพันธ์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการของผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เข้ารับการรักษาในคลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง แผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลปักธงชัย จำนวน 126 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์และสุ่มอย่างง่าย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินภาวะโภชนาการ แบบสัมภาษณ์กลุ่มอาการ และแบบสัมภาษณ์การสนับสนุนทางสังคม เครื่องชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของสเปียร์แมน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังรับรู้ถึงกลุ่มอาการโดยรวมร้อยละ 100 เฉลี่ย 46.06 คะแนน (SD = 28.20) เมื่อพิจารณารายกลุ่มพบว่ารับรู้ถึงกลุ่มอาการด้านจิตใจ ร้อยละ 96.8 เฉลี่ย 8.52 คะแนน (SD =5.57) และกลุ่มอาการด้านร่างกาย ร้อยละ 86.5 เฉลี่ย 37.54 คะแนน (SD = 24.85) ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ พบว่า ความรุนแรงของโรคมีความสัมพันธ์ทางบวกในระดับปานกลางกับกลุ่มอาการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (rs = .44, p < .01) การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางลบในระดับต่ำกับกลุ่มอาการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -.20, p < .05) และภาวะโภชนาการไม่มีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการ (p > .05) ผลการวิจัยครั้งนี้ พยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางช่วยลดความรุนแรงของกลุ่มอาการโดยการลดความรุนแรงของโรคและให้การสนับสนุนทางสังคมในผู้ที่เป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง