Abstract:
การศึกษาเชิงคุณภาพนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพแก่ผู้พิการโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนในชุมชนต้นแบบ ผู้ให้ข้อมูลมีจำนวน12 คน ประกอบด้วยพยาบาล แกนนำชุมชน และผู้พิการที่เกี่ยวข้องกับการบริการสร้างเสริมสุขภาพแก่ผู้พิการการเก็บรวบรวมข้อมูลใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกและการวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพของผู้พิการโดยชุมชนมีส่วนร่วมประกอบด้วย 3 องค์ประกอบคือ 1) ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จ ประกอบด้วยศักยภาพและความพร้อมของแกนนำชุมชน ระบบสนับสนุนที่เข้มแข็งในชุมชน และนโยบายเพื่อสุขภาพของผู้พิการ2) กระบวนการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพแก่
ผู้พิการโดยชุมชนมีส่วนร่วม ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ (1) การประเมินสถานการณ์และวางแผนการดำเนินงาน (2) การดำเนินงานโดยการพัฒนาศักยภาพของแกนนำชุมชน ผู้พิการ และครอบครัว การพัฒนาระบบบริการสุขภาพสำหรับผู้พิการ และการปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพื่อเอื้อต่อสุขภาพของผู้พิการ (3) การสรุปผลและขยายเครือข่ายการดำเนินงาน 3) ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้พิการและความเข้มแข็งของชุมชน ผลการศึกษาที่ได้นี้สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางแก่พยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพ ในการพัฒนารูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพแก่ผู้พิการที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชน โดยปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญที่ทำให้รูปแบบดังกล่าวเป็นไปได้จริงและยั่งยืน คือ ความร่วมมือระหว่างผู้พิการและครอบครัว ภาคีเครือข่ายในชุมชน รวมทั้งบุคลากรทางการสาธารณสุข