Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาถึงปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับของนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ที่กำลังศึกษาในปีการศึกษา 2554 โดยการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ ตามสัดส่วนนิสิตในแต่ละชั้นปี จำนวน 255 คน เครื่องมือเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ประกอบด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม คุณภาพการนอนหลับที่ดัดแปลงมาจากแบบวัดดัชนีคุณภาพการนอนหลับของมหาวิทยาลัยพิตส์เบิร์ก (Pittsburgh Sleep Quality Index (PSQI), 2013) ระดับความเครียดและระดับความวิตกกังวล และแบบแผนการดำเนินชีวิต สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation Coefficient)
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีคุณภาพการนอนหลับดี (≤ 5 คะแนน) คิดเป็นร้อยละ 57.53 ค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพการนอนหลับเท่ากับ 5.29 ± 1.80 คะแนน ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับของนิสิตพยาบาลมากที่สุด คือ ระดับความเครียด รองลงมา คือ ระดับความวิตกกังวล แบบแผนการดำเนินชีวิตโดยรวม โดยปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี ได้แก่ ระดับความเครียด (r =.28, p .00) ระดับความวิตกกังวล (r = .27, p .00) แบบแผนการดำเนินชีวิตโดยรวม (r = .12, p .01) ส่วนปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพการนอนหลับที่ดี ได้แก่ การนอนหลับในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกหรือห้องที่มีอากาศเย็นสบาย (r = -.11, p .02) และการนอนหลับในห้องที่เงียบสงบ ปราศจากเสียงรบกวน (r = -.09, p .05)
จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะให้อาจารย์พยาบาลตระหนักถึงความสำคัญของความเครียดและความวิตกกังวลของนิสิตพยาบาล โดยทำการประเมินระดับความเครียดและระดับความวิตกกังวลของนิสิตพยาบาลอย่างต่อเนื่อง และให้ความช่วยเหลือแก่นิสิตพยาบาลเพื่อบรรเทาความเครียดและความวิตกกังวล หรือสนับสนุนให้นิสิตพยาบาลสามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพการนอนหลับที่ดี