Abstract:
ประชามติจัดเป็นเครื่องการเมืองอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับแนวคิดประชาธิปไตยของตะวันตก การจัดทำประชามติตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประชาชนในกิจกรรมทางการเมือง ทั้งมิติภายใน และมิติภายนอกประเทศ บทความนี้มุ่งเน้นไปที่มิติภายนอกในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำประชามติเพื่อแยกตัวเป็นรัฐอิสระในยุคหลังจากสงครามเย็น การจัดทำประชามติแสดงให้เห็นถึงการสร้างมาตรฐาน เพื่อวางรูปแบบการหารือกับประชาชนภายใต้บริบทของการกำหนดเจตจำนงของตนเองภายนอก อันแสดงให้เห็นถึงนัยสำคัญของความต้องการในการแยกตัวออกจากรัฐเดิมโดยอาศัยกระบวนวิธีทางประชาธิปไตย แม้ว่าการจัดทำประชามติจะมีส่วนเข้ามาช่วยในกระบวนการของการสร้างรัฐและเป็นรูปแบบที่นำมาใช้มากที่สุดก็ตามแต่ข้อโต้แย้งที่สำคัญประการหนึ่ง คือการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านการจัดทำประชามติไม่ได้นำไปสู่การแยกตัวออกจากรัฐเดิม แต่หน้าที่กลับไปอยู่ที่รัฐบาลกลางในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรหลังจากที่ได้รับฟังเสียงของประชาชนผ่านการลงประชามติ จากกรณีศึกษาที่นำมาเปรียบเทียบ คือ ความพยายามในการจัดทำประชามติเพื่อแยกตัวจากแคนาดาของมลรัฐควิเบก (ค.ศ. 1995) กับกรณีของการจัดทำประชามติของไครเมีย (ค.ศ. 2014) เพื่อขอสิทธิในการปกครองตนเองจากยูเครน พบว่า กรณีของควิเบกนั้น การจัดทำประชามติได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในขณะที่กรณีของไครเมียกลับโดนคัดค้านในเรื่องความชอบธรรมของการจัดทำประชามติ