Abstract:
การเปรียบเทียบผลการนำนโยบายด้านแรงงานต่างด้าวไปปฏิบัติกรณีศึกษา 3 จังหวัดภาคตะวันออก สระแก้ว จันทบุรีและตราด ได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง และการสัมภาษณ์เชิงลึกจากหน่วยงานต่างๆ ผลการศึกษาสามารถแบ่งเป็น 4 ด้าน คือ 1) ด้านนโยบายแรงงานต่างด้าว พบว่าทั้ง3 จังหวัดมีความชัดเจนของวัตถุประสงค์และเป้าหมายของนโยบาย แต่ยังไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายได้ เนื่องจากไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน และการแก้ไขปัญหาเป็นแบบระยะสั้นรายปี สำหรับการปฏิบัติตามนโยบายเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย พบว่า แต่ละจังหวัดยึดกรอบแนวทางนโยบายจากส่วนกลาง และผู้ว่าราชการจังหวัดได้ผนวกแนวทางและนโยบายของจังหวัดภายใต้หลักการตอบสนองความต้องการด้านเศรษฐกิจของจังหวัดเป็นหลัก โดยใช้ปัญหาของท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง และดำเนินดำเนินงานในรูปของคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2) ด้านทรัพยากร พบว่า ทั้ง 3 จังหวัด มีความพอเพียงของทรัพยากรทางการเงิน แต่ขาดความพร้อมในด้านวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และสถานที่เพื่อให้บริการ รวมถึงบุคลากรในการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ 3) ด้านหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ พบว่า มี 5 หน่วยงานหลัก ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง งานทะเบียนราษฎร์จังหวัด และหน่วยงานทางทหาร ซึ่งแต่ละหน่วยงานต่างบังคับใช้กฎหมายตามที่ตนเองสังกัด ทำให้เกิดความขัดแย้งในขั้นตอนการดำเนินงาน 4) ด้านสภาพแวดล้อม พบว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดภาคตะวันออก เป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนการค้าชายแดนสูงถึงร้อยล่ะ 80 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชา ด้านสังคม พบว่า มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองส่วนหนึ่งมีสถานะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ถูกจำกัดโอกาสและสิทธิในด้านต่าง ๆ ส่วนด้านการเมือง พบว่า บทบาททางการเมืองมีผลต่อการดำเนินกำหนดนโยบายแรงงานต่างด้าวในแต่ล่ะปี