Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก 2) ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก และ 3) ศึกษาข้อเสนอในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกอย่างยั่งยืน
งานวิจัยชิ้นนี้ทำหารวิจัยเชิงคุณภาพร่วมกับการวิจัยเชิงปริมาณ การวิจัยเชิงคุณภาพเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร การสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เจาะลึก การวิจัยเชิงปริมาณใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการวิจัย ประชากรของการวิจัย คือ ประชาชนในเขตพื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และฉะเชิงเทรา กลุ่มตัวอย่างมีจำนวน 400 คน
ผลการวิจัยพบว่า ด้านปัจจัยส่วนบุคคล ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 50.75) อายุเฉลี่ย 35 ปี รายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 23,100 บาท มีการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า (ร้อยละ 45.25) มีอาชีพพนักงานบริษัท ลูกจ้าง (ร้อยละ 40.0) และมีสถานภาพสมรส (ร้อยละ 45.25)
ในภาพรวม ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับน้อย (ค่าเฉลี่ย 2.01) เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ในระดับน้อยในทุกด้าน โดยเรียงลำดับดังนี้ มีส่วนร่วมในการรับผลประโยชน์ (ค่าเฉลี่ย 2.24) มีส่วนร่วมในการปฏิบัติ (ค่าเฉลี่ย 2.14) มีส่วนร่วมในการประเมินผล (ค่าเฉลี่ย 1.87) มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (ค่าเฉลี่ย 1.81)
ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกพบว่า 1) ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ รายได้ อาชีพ สถานภาพสมรส มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับตัวแปร เพศ อายุ ระดับการศึกษา ไม่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน 2) ปัจจัยทางสังคม ได้แก่ บทบาทในครอบครัว และจำนวนช่องทางที่ได้รับข้อมูลข่าวสารมีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับตัวแปรระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในชุมชนไม่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 3) ปัจจัยด้านทุนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาซียน ได้แก่ คุณลักษณะด้านคุณธรรมละความสามารถของผู้นำในชุมชน มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน สำหรับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และความตระหนักในการป้องกันมลพิษ ไม่มีผลต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน
การวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ ภาครัฐควรส่งเสริมการผลิตและการบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริหารจัดการทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม