Abstract:
การสำรวจคุณภาพน้ำในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกในปี 2537 ได้แก่ บริเวณหาดบางแสน หาดพัทยา หาดจอมเทียน อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด และสวนรุกขชาติเพ-แหลมแม่พิมพ์ พบว่าคุณภาพน้ำส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดีตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลเพื่อการว่างน้ำ กล่าวคือตรวจพบปริมาณโคลิฟอร์มแบคทีเรียรวมไม่เกินกว่า 1,000 เอ็มพีเอ็น ต่อ 100 มิลลิลิตร ยกเว้นหาดพัทยาที่มีสภาพเสื่อมโทรมโดยเฉพาะพัทยาใต้ ซึ่งมีคุณภาพน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก ทั้งนี้เนื่องจากพัทยาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับนานาชาติของประเทศไทยด้วย จึงทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเมืองพัทยาได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา
เมื่อเปรียบเทียบผลการสำรวจคุณภาพน้ำในแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 5 บริเวณดังกล่าวในปี 2537 กับการสำรวจในปีที่ผ่านๆมา พบว่าคุณภาพน้ำในบริเวณดังกล่าวมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นหาดจอมเทียน ซึ่งมีแนวโน้มตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียรวมสูงขึ้น แต่ก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
จากผลการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างรวดเร็ว มีผลทำให้คุณภาพน้ำชายฝั่งในบริเวณแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลมีความสกปรกมากขึ้น ดังนั้นจึงควรที่จะต้องควบคุมและป้องกันการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล ตลอดจนควรติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลบริเวณแหล่งท่องเที่ยวเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คุณภาพน้ำเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ และเหมาะสมแก่การใช้ประโยชน์เพื่อการว่ายน้ำสืบไป