Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายโรคอ้วนของวัยรุ่นไทยในภาคตะวันออก กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคตะวันออก จำนวน 1991 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลแบบสอบถามพฤติกรรมการออกกำลังกายและการใช้เวลาว่าง แบบสอบถามพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดส่วนสูง เครื่องตรวจหาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด เก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้นักเรียนทุกคนตอบแบบสอบถามและสุ่มนักเรียนจำนวน 476 คนเพื่อเจาะตรวจระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดวิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติพรรณนาและหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรและหาปัจจัยทำนายโดย Stepwise regression correlation
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง ร้อยละ 59.3 อายุเฉลี่ย 14.90 ปีมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยวันละ 43 บาท รายได้ของครอบครัวอยู่ระหว่าง 10000-20000 บาท/เดือน ร้อยละ 12.1 มีค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 95 th ร้อยละ 50.1 มีสมาชิกในครอบครัวที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ร้อยละ 15.5 มีบิดาน้ำหนักเกินมาตรฐาน ร้อยละ 19.1 มีมารดาน้ำหนักเกินมาตรฐาน ร้อยละ 2.9 มีบิดาอ้วนและร้อยละ 4.7 มีมารดาอ้วน พฤติกรรมการออกกำลังกายและการใช้เวลาว่างของกลุ่มตัวอย่าง พบว่ามีค่าเฉลี่ยการออกกำลังกาย 120.41 นาที/สัปดาห์ (M=120.4, SD=90.69) ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์หลังเลิกเรียนเแลี่ยวันละ 1 ชั่วโมง 55 นาที (M=115.32, SD=94.03) และใช้เวลาในการดูโทรทัศน์ในวันหยุด เฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง (M=285.22, SD=141.39) ผลการตรวจหาระดับไขมันในเลือด พบว่า ร้อยละ 17.6 มีระดับโคเลสเตอรอลสุงกว่า 200 มก/มล ร้อยละ 21 มีไตรกลีเซอไรด์สูงกว่า 100 มก/มล ร้อยละ มีระดับแอลดีสูงกว่า 130 มก/ดล และร้อยละ 98 มีระดับแอลดีแอลสูงกว่า 45 มก/ดล
การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ จำนวนสมาชิกครอบครัวที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานและอ้วน ค่าดัชนีมวลกายของบิดาและมารดา ค่าใช้จ่ายรายวัน จำนวนวันธรรมกาที่ดูโทรทัศน์และระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยทำนายค่าดัชนีมวลกายของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า จำนวนสมาชิกครอบครัวที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานและอ้วน ค่าดัชนีมวลกายของบิดาและมารดา ค่าใช้จ่ายรายวัน พฤติกรรมการรับประทานอาหารและเวลาที่ใช้ในการดูโทรทัศน์ สามารถร่วมกันอธิบายค่าดัชนีมวลกายของวัยรุ่นได้ ร้อยละ 14.3
ข้อเสนอแนะจากการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ควรติดตามอุบัติการณ์และปัจจัยเสี่ยงของโรคในระยะยาว ป้องกันและลดภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานและอ้วนโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของครอบครัว โดยควรเน้นการสร้างพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ควรลดเวลาว่างในการดูโทรทัศน์และเพิ่มการออกกำลังกาย เพื่อแก้ปัญหาภาวะน้ำหนักเกินมาตรฐานและอ้วนของวัยรุ่น