Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษากลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการ: กรณีศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยดำเนินการวิจัย 2 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 การสร้างกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการ โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 20 คน ขั้นตอนที่ 2 การตรวจสอบความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติโดยใช้แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรสังกัด คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 213 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ผลการวิจัยพบว่า 1. ผลการสร้างกลยุทธ์จากผู้เชี่ยวชาญ ด้านการพัฒนาทักษะ ได้แก่ ส่งเสริมให้มีความคิดวิเคราะห์ และสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมการอบรมหลักสูตรเชิงปฏิบัติการ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะและด้านอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อการปฏิบัติงาน ส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านการใช้ภาษาอังกฤษ ด้านการพัฒนาให้บริการ ได้แก่ ส่งเสริมให้ทุกคนใช้กิริยาวาจาสุภาพ น้ำเสียงไพเราะ และยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ ส่งเสริมให้ทุกคนมีจิตสาธารณะ ดูแลเอาใจใส่ต่อผู้มาใช้บริการด้วยความเต็มใจ ส่งเสริมให้ทุกคนมีน้ำใจ เสียสละ และอ่อนน้อมถ่อมตนในการให้บริการ ส่งเสริมให้ทุกคนทำงานแบบกัลยาณมิตร ให้ขวัญและกำลังใจต่อผู้ร่วมงานด้วยกัน ด้านการพัฒนาจริยธรรม ได้แก่ เสริมสร้างให้ทุกคนตื่นตัวและพร้อมที่จะปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายตลอดเวลาพึงตระหนักให้ยึดมั่นในหลักคุณธรรมและจริยธรรมในการปฏิบัติงาน พึงยกย่องให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน พึงตระหนักถึงการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นสำคัญ ด้านการพัฒนาใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ ส่งเสริมให้แต่ละฝ่ายมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลที่สามารถใช้ในการอ้างอิงได้ พัฒนาระบบการทำข้อมูลลงใน Web page ของแต่ละฝ่าย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย พัฒนาและปรับปรุงการทำงานโดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 2. ผลการตรวจสอบความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากรสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการ: กรณีศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา พบว่าความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติของกลยุทธ์การพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในการให้บริการ โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง