Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการให้อภัยของนิสิตปริญญาตรีโดยเปรียบเทียบผลการศึกษาระหว่างระยะก่อนการทดลอง ระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผล กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นนิสิตปริญญาตรีประจำปีการศึกษา 2556 จำนวน 16 ราย ที่มีคะแนนการให้อภัยต่ำกว่าเปอร์เซนต์ไทล์ที่ 25 สุ่มเข้ากลุ่มการทดลองและกลุ่มควบคุม โดยวิธีจับคู่ตามคะแนนเพื่อไม่ให้มีข้อแตกต่างกัน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 8 คน และกลุ่มควบคุม 8 คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ มาตรวัดพื้นนิสัยในการให้อภัย และโปรแกรมในการศึกษากลุ่มตามแนวคิดจิตตปัญญาในกลุ่มทดลองจะได้รับการปรึกษา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 90 นาที จำนวน 11 ครั้ง ส่วนกลุ่มควบคุมจะไม่ได้รับการปรึกษากลุ่มตามแนวจิตตปัญญา ระยะการเก็บข้อมูลแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนการทดลอง ระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผล จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำประเภท หนึ่งตัวแปรระหว่างกลุ่มและหนึ่งตัวแปรภายในกลุ่ม เมื่อพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จึงทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีของ บอนเฟอรินี่
ผลการวิจัยพบว่า นิสิตปริญญาตรีที่ได้รับการปรึกษากลุ่มตามแนวคิดจิตตปัญญา มีค่าเฉลี่ยการให้อภัยสูงกว่าจากนิสิตปริญญาตรีที่ไม่ได้รับการปรึกษากลุ่มตามแนวคิดจิตตปัญญาในระยะหลังทดลอง ระยะติดตามผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนิสิตปริญญาตรีที่ได้รับการปรึกษากลุ่มตามแนวคิดจิตตปัญญา
มีค่าเฉลี่ยการให้อภัยในระยะหลังทดลอง และระยะติดตามผลสูงกว่าระยะก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05