Abstract:
การวิจัยเชิงหาความสัมพันธ์และทำนายครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสุขในการทำงานของอาจารย์พยาบาล ความสัมพันธ์และปัจจัยทำนายความสุขในการทำงานของอาจารย์พยาบาล กลุ่มตัวอย่าง คือ อาจารย์พยาบาลมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกของประเทศไทย จำนวน 97 ราย คัดเลือก กลุ่มตัวอย่างโดยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นโดยใช้สัดส่วนเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามการรับรู้ต่อการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคล และแบบสอบถามความสุขในการทำงานของอาจารย์พยาบาลมีค่าความเชื่อมั่นของแอลฟ่าครอนบาค เท่ากับ .94 และ .87 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของพอยท์ไบซีเรียลและเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยคะแนนความสุขในการทำงานโดยภาพรวมเท่ากับ 63.50 (S.D. = 6.48, range = 45-75) ความสุขทางใจเท่ากับ 21.85 (S.D. = 2.55, range = 15-25) ความสุขทางกาย เท่ากับ 20.69 (S.D. = 2.41, range = 15-25) และความสุขทางสังคมเท่ากับ 20.96 (S.D. = 2.53, range = 15-25) การรับรู้ต่อการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความสุขในการทำงานของอาจารย์พยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = .496, p < .001) และการรับรู้ต่อการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสุข ในการทำงานของอาจารย์พยาบาลมากที่สุด ทำนายได้ร้อยละ 24.6 (t = 5.567, p < .001) และอายุ (> 40 ปี)เป็นอีกปัจจัยอีกที่มีอำนาจทำนายร้อยละ 3.5 (t = 2.118, p< .05) และปัจจัยทั้งสองสามารถร่วมกันทำนายความสุขในการทำงานของอาจารย์พยาบาลได้ ร้อยละ 28.1 (F2,95 = 18.167, p < .001)
ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การรับรู้ต่อการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคลส่งผลทางบวกต่อความสุขในการทำงาน ดังนั้น ผู้บริหารควรส่งเสริมและสนับสนุนให้อาจารย์พยาบาลมีการรับรู้การบริหารงานทรัพยากรบุคคลให้มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งผลให้ทำงานอย่างมีความสุขและอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของอาจารย์พยาบาลให้ดีขึ้นด้วย