Abstract:
การวิจัยแบบพรรณนาเชิงเปรียบเทียบครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการได้มีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการดูแลเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ที่ได้รับการผ่าตัดขณะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและเปรียบเทียบความแตกต่างของการมีส่วนร่วมและความต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กของผู้ปกครอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครองของเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ที่ได้รับการผ่าตัดและรับไว้เป็นผู้ป่วยในหอผู้ป่วยศัลยกรรมเด็กโรงพยาบาลชลบุรี คัดเลือกโดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายจำนวน 50 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองที่ได้ดูแลจริง และแบบสอบถามความต้องการการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .87 และ .89 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน พิสัย และการทดสอบทีแบบสองกลุ่มไม่เป็นอิสระต่อกัน
ผลการวิจัยพบว่า การมีส่วนร่วม และความต้องการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการดูแลเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ที่ได้รับการผ่าตัด ขณะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยภาพรวมมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -4.29, p< .01) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าผู้ปกครองมีความต้องการที่จะมี ส่วนร่วมดูแลด้านกิจกรรมการพยาบาล และด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมากกว่าการได้ดูแลจริงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -2.69, p< .01 และ t = -3.18, p< .01 ตามลำดับ) ส่วนด้านกิจกรรมที่ทำเป็นประจำไม่มีความแตกต่างกัน (p> .05)
ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พยาบาลที่ดูแลเด็กปากแหว่ง-เพดานโหว่ที่ได้รับการผ่าตัดขณะอยู่ในโรงพยาบาล ควรต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและส่งเสริมให้ผู้ปกครองได้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็กได้อย่างเหมาะสมทั้งการมีส่วนร่วม และความต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลเด็กโดยเฉพาะด้านกิจกรรมการพยาบาล ด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และด้านการตัดสินใจ