Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษารูปแบบการจัดการที่หลากหลายของชุมชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 โดยทำการเก็บข้อมูลจากแบบสำรวจจำนวน 400 ชุด ใน 16 อำเภอ ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยการสุ่มตามบริบทของกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังทำการสัมภาษณ์เชิงลึกจากผู้บริหารของหน่วยงานท้องถิ่น จำนวน 3 หน่วยงาน ได้แก่ เทศบาลเมืองอโยธยา วัดพนัญเชิงวรวิหาร และ เทศบาลตำบลบางปะอิน
ซึ่งอยู่ในพื้นที่บริเวณต้นนน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำตามลำดับ เพื่อทำการเปรียบเทียบลักษณะการจัดการของชุมชนต่อปัญหาและการป้องกันน้ำท่วม จากการสำรวจในแต่ละพื้นที่ของชุมชนจะมีปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกัน โดยจะมีการจัดการ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ การจัดการแบบต่างคนต่างทำ สมาชิกภายในชุมชนต่างมีส่วนร่วม และสุดท้ายสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนการแสดงความคิดเห็น แต่มอบหมายให้กลุ่มผู้นำเป็นผู้ตัดสินใจตามบทบาทหน้าที่
ที่ได้รับมอบหมายจากการวิจัยครั้งนี้สามารถชี้ให้เห็นได้ว่าการจัดการอุทกภัยในปี 2554 ยังมีจุดบกพร่องที่เราต้องแก้ไขอยู่หลายจุดด้วยกันคือ ประชาชนในพื้นที่ขาดความตระหนักในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หน่วยงานของรัฐไม่มีความพร้อมเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จริง หน่วยงานต่างๆยังมีความสับสนของการประสานงานอยู่ อีกทั้งในการเตรียมข้อมูลเชิงพื้นที่ยังขาดการนำเทคโนโลยีมาเป็นแนวทาง ทั้งนี้ควรเร่งสร้างความเข้าใจในการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเพิ่มขึ้น เนื่องเหตุการณ์ที่ผ่านมาพบว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังขาดการเรียนรู้และเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตอย่างเป็นระบบ และควรจัดให้มีการร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในทุกขั้นตอนซึ่งอาจออกมาในรูปของแผนป้องกันในระยะยาวหรือระยะสั้นและการเตรียมความพร้อมในด้านการจัดการกับสภาวะฉุกเฉินทั้ง 3 ขั้นตอน โดยภาครัฐฯควรเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของการจัดการเรื่องการเตรียมความพร้อมและงบประมาณที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุอุทกภัยในครั้งต่อไป