Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับแนวคิดการดูแลอย่างเอื้ออาทรในวิชาชีพพยาบาล พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมพยาบาลจบใหม่ โดยบูรณาการความฉลาดทางอารมณ์ในการดูแลอย่างเอื้ออาทร นำหลักสูตรฝึกอบรมไปใช้และศึกษาพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรที่เกิดขึ้น ดำเนินการโดยใช้กระบวนการการวิจัยและพัฒนา แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน 1) การวิเคราะห์และสังเคราะห์แนวคิดการดูแลอย่างเอื้ออาทรในวิชาชีพพยาบาล โดยใช้วิธีวิจัยแบบอีดีเอฟอาร์ (EDFR: Ethnographic Delphi Future Research) จากการทบทวนเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างกับผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย จำนวน 7 คน และการพิจารณาเพื่อคัดเลือกการแสดงออกถึงพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทร และแนวทางการส่งเสริมให้พยาบาลจบใหม่มีพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรของผู้เชี่ยวชาญด้วยเทคนิคเดลฟาย จำนวน 18 คน ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์นำมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและจัดกลุ่มข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมด้วยเทคนิคเดลฟายรอบที่ 1 นำมาสังเคราะห์เนื้อหา พร้อมทั้งเพิ่มเติม แก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้เชี่ยวชาญ ส่วนข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมด้วยเทคนิคเดลฟายรอบที่ 2 และ 3 นำมาวิเคราะห์โดยการคำนวณหามัธยฐาน ค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ของแต่ละพฤติกรรมและหาฉันทามติ 2) การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมโดยบูรณาการความฉลาดทางอารมณ์ในการดูแลอย่างเอื้ออาทร และทดลองใช้หลักสูตรฝึกอบรมกับพยาบาลวิชาชีพจบใหม่ที่เริ่มปฏิบัติงานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 30 คน ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบความเหมาะสมของหลักสูตรฝึกอบรม นำมาคำนวณหาค่าเฉลี่ย ข้อมูลที่ได้จาการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาของหลักสูตรฝึกอบรม และแบบวัดพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรของพยาบาลจบใหม่ คำนวณหาค่าดัชนี ความสอดคล้อง และ 3) การนำหลักสูตรฝึกอบรมที่พัฒนาขึ้นไปใช้จริงกับพยาบาลวิชาชีพจบใหม่ที่เริ่มปฏิบัติงานในโรงพยาบาลต่าง ๆ ของจังหวัดกาฬสินธุ์ปีงบประมาณ 2556 จำนวน 30 คน และศึกษาผลที่เกิดขึ้น ข้อมูลที่ได้จากการตอบแบบวัดพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรของพยาบาลจบใหม่ นำมาหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรของพยาบาลจบใหม่ วิเคราะห์ผลจากการฝึกอบรมโดยหาค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรของพยาบาลจบใหม่ และวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรของพยาบาลจบใหม่ประเมินตนเอง และพยาบาลพี่เลี้ยงประเมินพยาบาลจบใหม่ก่อนการฝึกอบรมกับหลังสิ้นสุดการฝึกอบรมทันที โดยใช้สถิติ dependent samples t-test ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์นำมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า 1) พฤติกรรม
การดูแลอย่างเอื้ออาทรมีองค์ประกอบ 6 ด้าน คือ ความมีเมตตากรุณา การเข้าใจ เห็นคุณค่า และเคารพในศักดิ์ศรี
ของความเป็นมนุษย์ การมีสัมพันธภาพที่เอื้ออาทรเชิงวิชาชีพ การมีความสามารถเชิงวิชาชีพ การมีจริยธรรมเชิงวิชาชีพ และการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม 2) โครงสร้างของหลักสูตรฝึกอบรมที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 5 หน่วยการเรียนรู้ คือ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์และแรงบันดาลใจ การตระหนักรู้อารมณ์ตนเองกับการดูแลอย่างเอื้ออาทร การควบคุมอารมณ์ตนเองกับการดูแลอย่างเอื้ออาทร การพัฒนาอารมณ์ตนเองกับการดูแลอย่างเอื้ออาทร และการฝึกปฏิบัติการดูแลอย่างเอื้ออาทร จำนวน 107 ชั่วโมง 30 นาที โดยผลการประเมินความเหมาะสมของร่างหลักสูตรฝึกอบรมในภาพรวม มีค่าเฉลี่ย 4.96 ค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 1.00 ค่าอำนาจจำแนกรายข้อโดยวิธีหาค่าสหสัมพันธ์ระหว่างคะแนนรายข้อและคะแนนรวมของแบบวัดพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรมีค่าตั้งแต่ 0.275-0.761 และค่าความเที่ยงทั้งฉบับโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าตามวิธีการของครอนบาค เท่ากับ .958 และ 3) ค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรโดยรวมและรายด้านที่พยาบาลจบใหม่ประเมินตนเอง และพยาบาลพี่เลี้ยงประเมินพยาบาลจบใหม่ก่อนการฝึกอบรมกับหลังสิ้นสุดการฝึกอบรม มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยค่าเฉลี่ยภายหลังสิ้นสุดการฝึกอบรมมีค่าสูงขึ้นทุกด้าน ซึ่งโรงพยาบาลและสถาบันการศึกษาทางการพยาบาลสามารถนำหลักสูตรฝึกอบรมที่พัฒนาขึ้นไปใช้ เพื่อปลูกฝังพยาบาลหรือนักศึกษาพยาบาลให้มีพฤติกรรมการดูแลอย่างเอื้ออาทรได้