Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลร่วมระหว่างเสียงและการสูบบุหรี่ ที่ส่งผลต่อการสูญเสียการได้ยินของพนักงานในอุตสาหกรรมหลอมโลหะแห่งหนึ่ง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี รูปแบบของการวิจัยเป็นแบบภาคตัดขวาง กลุ่มตัวอย่างคือพนักงานในอุตสาหกรรมหลอมโลหะแห่งหนึ่ง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี จำนวน 437 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทำวิจัยประกอบไปด้วย แบบสอบถามเครื่องวัดเสียง เครื่องวัดปริมาณเสียงสะสม และเครื่องตรวจสมรรถภาพการได้ยิน สถิติที่ใช้ได้แก่จำนวนร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบไค-สแควร์ (chi-square test) และการวิเคราะห์ถดถอยแบบลอจิสติก (multiple logistic regression analysis)
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 27.2 ปี ร้อยละ 51.7 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่สูบบุหรี่ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 66.8 รับสัมผัสเสียงตั้งแต่ 85 dB(A) ขึ้นไป มีเพียงร้อยละ 33.2 ที่รับสัมผัสเสียงน้อยกว่า 85 dB(A) การศึกษาความสัมพันธ์พบว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการสูญเสียการได้ยินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยผู้ที่สูบบุหรี่นั้นจะมีโอกาสสูญเสียการได้ยินมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 11.91 เท่าโดยจะมีโอกาสเกิดการสูญเสียการได้ยินเพิ่มขึ้นระหว่าง 7.17-19.78 เท่าที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ผลร่วมของการรับสัมผัสเสียงและการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการ
สูญเสียการได้ยินอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับการรับสัมผัสปัจจัยร่วมนั่นคือรับสัมผัสเสียงตั้งแต่ 85 dB(A) ขึ้นไป และสูบบุหรี่จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียการได้ยินเพิ่มขึ้น 7.76 เท่าของพนักงานที่รับสัมผัสเสียงต่ำกว่า 85 dB(A) และไม่สูบบุหรี่โดยจะมีโอกาสเกิดการสูญเสียการได้ยินเพิ่มขึ้นระหว่าง 4.10-14.68 เท่า ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ผลที่ได้จากการวิจัยทำให้ทราบว่าบุหรี่มีความสัมพันธ์กับการสูญเสียการได้ยินในพนักงานอุตสาหกรรมหลอมโลหะ จึงควรมีการประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่