Abstract:
การวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed method) โดยใช้กลยุทธ์ในการวิจัยแบบแผนเชิงสำรวจบุกเบิก (Exploratory design) ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1. ศึกษาวัฒนธรรมองค์การตามความคาดหวังของผู้บริหารระดับสูงและช่องทางการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์การตามความคาดหวังของผู้บริหารระดับสูง 2. ศึกษาระดับการรับรู้ของผู้ปฏิบัติงานต่อวัฒนธรรมองค์การที่ผู้บริหารระดับสูงคาดหวัง และ 3. เพื่อเปรียบเทียบการรับรู้วัฒนธรรมองค์การของผู้ปฏิบัติงาน ที่มีระดับการศึกษา ตำแหน่ง ประสบการณ์การทำงาน และช่องทางในการับรู้ถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์การต่างกัน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้บริหารระดับสูงขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี จำนวน 6 คน ซึ่งเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์
2. กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี จำนวน 197 คน ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถามชนิดมาตรส่วนประมาณค่า จำนวน 27 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามทั้งฉบับเท่ากับ 0.84 วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยเทคนิคการวิเคราะห์เนื้อหา และข้อมูลเชิงปริมาณ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน One-way ANOVA และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธี LSD
การศึกษาเชิงคุณภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่าวัฒนธรรมองค์การที่ผู้บริหารระดับสูงขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีคาดหวังนั้น สามารถสังเคราะห์ออกมาได้ 27 หัวข้อ ซึ่งแบ่งได้เป็น 5 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านภาพลักษณ์ขององค์การ 2. ด้านการปฏิบัติงานในองค์การ 3. ด้านการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร 4. ด้านบรรยากาศในที่ทำงาน 5. ด้านทัศนคติ โดยวัฒนธรรมองค์การที่ผู้บริหารระดับสูงคาดหวังนั้นล้วนเป็นวัฒนธรรมองค์การที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์การมีความก้าวหน้าและก้าวไปสู่องค์การยุคใหม่ เพื่อให้องค์การเข้มแข็งได้ด้วยวัฒนธรรมองค์การที่ผู้บริหารระดับสูงคาดหวังให้เกิดขึ้นในองค์การ และช่องทางในการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์การที่ผู้บริหารระดับสูงคาดหวังนั้นสามารถสรุปช่องทางที่ใช้ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์การที่ผู้บริหารระดับสูงคาดหวังนั้น สามารถสรุปช่องทางที่ใช้ในการสื่อสารได้ 5 ช่องทาง ดังนี้
1.วารสารขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี (แบบราย 3 เดือน) 2. การประชุม การสัมมนา การฝึกอบรม 3. การสื่อสารโดยตรง (Direct Information) 4. หนังสือประสานงานภายในหน่วยงานโดยบันทึกข้อความ 5. เว็บไซด์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี การศึกษาเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามพบว่า ผู้ปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี มีการรับรู้วัฒนธรรมองค์การตามที่ผู้บริหารระดับสูงคาดหวังโดยภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า
ผู้บริหารระดับสูงคาดหวังให้ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานด้วยความเต็มใจ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (X = 4.32) สำหรับช่องทางการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์การพบว่า ผู้ปฏิบัติงานรับรู้วัฒนธรรมองค์การจากผู้บริหารระดับสูง ผ่านช่องทางเว็บไซด์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 35.5 และจากการวิเคราะห์ผลการวิจัยแบบผสม ด้วยการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพพบว่าทางด้านตัวแปรอิสระ มีตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 4 ตัว ได้แก่ 1. ระดับการศึกษา 2. ตำแหน่ง 3. ประสบการณ์การทำงาน 4. ช่องทางในการรับการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์การจากผู้บริหารระดับสูง
และด้านตัวแปรตาม มีตัวแปรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 1 ตัว คือ การรับรู้วัฒนธรรมองค์การที่คาดหวัง ตัวแปรทั้งหมดถูกนำไปทดสอบด้วยวิธีวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและพบว่า ในบรรดาตัวแปรทั้งหมดที่รวบรวมในตอนต้น ด้านตัวแปรอิสระ มีตัวแปรอยู่ 4 ตัว ที่มีความสัมพันธ์ทางสถิติอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถเรียงลำดับได้ดังนี้ ผู้ปฏิบัติงานที่มีระดับการศึกษา ตำแหน่งงาน ประสบการณ์ในการทำงาน และมีช่องทางการรับรู้ต่างกัน มีการรับรู้วัฒนธรรมองค์การที่ผู้บริหารระดับสูงคาดหวังต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05