Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสัมพันธ์ของการจัดตั้งศูนย์รับน้ำนมดิบกับหลักการจัดการสมัยใหม่ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ 2) ศึกษาข้อมูลเชิงพื้นที่ในการกำหนดขอบเขตการเลี้ยงโคนมในจังหวัดสระแก้วที่ส่งผลต่อการจัดตั้งศูนย์รับน้ำนมดิบโดยการประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและการจัดการสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำนมดิบ
กรณีศึกษาสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็นจำกัด จังหวัดสระแก้ว
ขอบเขตการวิจัยด้านพื้นที่ที่ทำการวิจัยคือ พื้นที่ จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังสมบูรณ์ อำเภอวังน้ำเย็น อำเภอเขาฉกรรจ์ และอำเภอวัฒนานคร
ขอบเขตการวิจัยด้านประชากร ได้แก่ สมาชิกสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็นน จำกัด จำนวน 300 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของสหกรณ์ฯ แบบวัดทัศนคติกับการบริหารศูนย์รับน้ำนมดิบ และแบบวัดทัศนคติเกี่ยวกับการจัดการศูนย์รับน้ำนมดิบ ตามหลักการจัดการสมัยใหม่ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรม SPSS for Window ในการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน และการใช้โปรแกรมสหสัมพันธ์แบบเพียรสัน (Pearson’s Product Moment Correlation) ระดับ 0.01 ในการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์
ผลการศึกษาพบว่า ศูนย์รับน้ำนมดิบในปัจจุบันของสหกรณ์ฯ มีความสัมพันธ์กับหลักการจัดการสมัยใหม่ด้านรัฐประศาสนศาสตร์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับมาก ทั้ง 5 ด้านโดยด้านการจัดการสหกรณ์ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าเฉลี่ย 3.80 รองลงมาด้านธรรมาภิบาล ค่าเฉลี่ย 3.76 ด้านการจัดการสหกรณ์ภายใต้หลักการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ค่าเฉลี่ย 3.74 ด้านการจัดการสหกรณ์ภายใต้หลักนโยบายสาธารณะ ค่าเฉลี่ย 3.72 และอันดับสุดท้าย ด้านการจัดการสหกรณ์
ภายใต้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ค่าเฉลี่ย 3.59 ตามลำดับ
ผลการศึกษาข้อมูลเชิงพื้นที่ในการกำหนดขอบเขตการเลี้ยงโคนมในจังหวัดสระแก้วที่ส่งผลต่อการจัดตั้งศูนย์รับน้ำนมดิบ
โดยการประยุกต์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและการจัดการสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบ กรณีศึกษาสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น
จำกัด จังหวัดสระแก้ว พบว่าตำแหน่งพื้นที่ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการจัดตั้งศูนย์รวบรวมรับนมดิบแห่งใหม่ มีจำนวน 5 แห่ง คือ 1) ตำบลโคกปี่ฆ้อง อำเภอเมืองสระแก้ว
2) ตำบลโนนหมากเค็ง อำเภอวัฒนานคร 3) ตำบลโคคลาน อำเภอตาพระยา 4) ตำบลทับจันทร์ อำเภออรัญประเทศ และ 5) ตำบลคลองหาด อำเภอคลองหาด