Abstract:
งานวิจัยเรื่อง กลไกและกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองตนเองของท้องถิ่น : กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเลตะวันออก มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพลวัตทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกที่นำไปสู่การก่อรูปธุรกิจการเมืองและโครงสร้าง อำนาจ ผลลัพธ์ และอุปสรรคในการนำนโยบายกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในฐานะที่เป็นกลไกและกระบวนการ มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 ไปปฏิบัติตลอดจนถึงข้อเสนอในเชิงนโยบายสาธารณะที่ช่วยสร้างกลไกและกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองตนเองของท้องถิ่น วิธีวิทยาในการวิจัยนี้จะใช้การวิจัยเชิงคุณภาพแนวประวัติศาสตร์ (Historical Qualitative Research) โดยการวิเคราะห์ภาพรวมเชิงโครงสร้าง (Structural Approach) และวิธีวิทยาแนวกรณีศึกษา (Case Study Approach) ส่วนวิธีการวิจัยจะใช้ 4 วิธีร่วมกันคือ การวิจัยเอกสารการศึกษาประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า การสัมภาษณ์เจาะลึก และการเสวนากลุ่ม ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวมีข้อค้นพบดังนี้คือ
1. การก่อรูปธุรกิจการเมืองและโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกนั้นเกิดขึ้นภายในบริบททางการเมืองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในฐานะที่เป็นกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองตนเองในอดีต อย่างไรก็ดี การขยายตัวของธุรกิจการเมืองบางแห่งก็ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากการดำรงอยู่ของพลังในการปกครองตนเองของชุมชน
2. ผลลัพธ์ (Result) ที่ได้จากการนำนโยบายกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะกลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองของประชาชนท้องถิ่นที่ปฏิบัติในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกพบว่าการดำเนินนโยบายกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 ก็ยังไม่สามารถทำให้บรรลุการกระจายอำนาจที่แท้จริงได้ (Decentralization) เนื่องจากการกระจายอำนาจเป็นกระบวนการทางสังคมที่มีบทบาทของกลุ่มและชนชั้นต่าง ๆ ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้น ผลลัพธ์ของกระบวนการกระจายอำนาจในปัจจุบันจึงเป็นเพียงแบ่งอำนาจการปกครอง (Deconcentration) ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองด้วยกัน
3. การขับเคลื่อนนโยบายกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายการปกครองตนเองของประชาชนท้องถิ่นนั้นพบว่า มีอุปสรรคหลักในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกก็คือ โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นที่มีลักษณะผูกขาดอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำท้องถิ่นโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นที่เป็นอุปสรรคดังกล่าวมี 3 รูปแบบ
ใหญ่ ๆ คือ โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบขั้วอำนาจเดียว โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบสองขั้วอำนาจและโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นแบบสามขั้วอำนาจ โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นดังกล่าวเป็นอุปสรรคขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการจัดตั้งการมีส่วนร่วมของประชาชนให้อยู่ภายใต้เครือข่ายอุปถัมภ์ของชนชั้นนำ นอกจากนี้ผลลัพธ์ที่ตามมาจากการดำรงอยู่ของโครงสร้างอำนาจท้องถิ่นก็คือ การเกิดภาวะทับซ้อนเชิงผลประโยชน์ในท้องถิ่น (Local Conflict of Interest) และการสร้างความไม่เป็นธรรมในเชิงโครงสร้างเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่น
4. ข้อเสนอในเชิงนโยบายที่ช่วยสร้างกลไกและกระบวนการรูปแบบใหม่ในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครองตนเองของท้องถิ่นนั้นควรมีรูปแบบลักษณะท้องถิ่นบริหารจัดการปกครองตนเอง (Local Self – Government) ก็คือสภาองค์กรชุมชนตำบลในฐานะกลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประชาธิปไตยจากฐานราก (Grassroot Democracy) การพัฒนาองค์กรประชาสังคมท้องถิ่นควบคู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการปฏิรูปการเลือกตั้งเป็นกลไกและกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกครอง