Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับความรู้ความเข้าใจทางด้านการเมือง ระดับความโน้มเอียงทางการเมือง และระดับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา 2) เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของตัวแปรที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และ 3) เพื่อพัฒนาโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของตัวแปรความรู้ความเข้าใจทางการเมือง ความโน้มเอียงทางการเมือง ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี จำนวน 3,126 คน จากมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ในภาคตะวันออก เครื่องมือการวิจัยเป็นแบบสอบถามวัดความรู้ความเข้าใจทางการเมือง ความโน้มเอียงทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา จำนวน 41 ข้อ วิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา ด้วยโปรแกรมสถิติสำเร็จรูป และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม LISREL 8.80 (Student Version) ในการตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างของโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ ผลการวิจัยสรุปได้ว่า 1) ระดับความรู้ความเข้าใจทางการเมืองทุกด้านอยู่ในระดับมากที่สุด 2) ระดับความโน้มเอียงทางการเมืองด้านความสำนึกในหน้าที่ผลเมืองอยู่ในระดับมาก ความไว้วางใจทางการเมืองและความรู้สึกมีสมรรถนะทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง 3) ระดับการมีส่วนร่วมทางการเมือง ในการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอยู่ในระดับมาก การรณรงค์ให้ความรู้ทางการเมืองแก่ประชาชนในระดับปานกลาง การติดตามสภาพการณ์เคลื่อนไหวทาง การเมืองอยู่ในระดับปานกลาง การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอยู่ในระดับปานกลาง และการชุมนุมทางการเมืองอยู่ในระดับน้อย 4) การวิเคราะห์แบบจำลองความรู้ความเข้าใจทางการเมือง ความโน้มเอียงทางการเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษา สถาบันศึกษาในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศไทย พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์อยู่ในเกณฑ์ดี ผลการทดสอบค่าไคสแคว์ มีค่าเท่ากับ 22.71 ที่องศาอิสระเท่ากับ 14 ค่า X2 /df =1.62 ค่าความน่าจะเป็นเท่ากับ .065 ดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (GFI) มีค่าเท่ากับ .999 ดัชนีวัดระดับ ความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ .993 ดัชนีวัดความกลมกลืนเปรียบเทียบ (CFI) เท่ากับ .999 ค่ารากของค่าเฉลี่ยกำลังสองของเศษเหลือในรูปคะแนนมาตรฐาน (SRMR) เท่ากับ .009 ค่ารากของค่าเฉลี่ยกำลังสองของความคลาดเคลื่อนโดยประมาณ (RMSEA) เท่ากับ .014 ตัวแปรทั้งหมดในโมเดลสามารถอธิบายการมีส่วนร่วมทางการเมืองของนักศึกษาได้ร้อยละ 58 ผลการทดสอบสมติฐานพบว่า 1) ความโน้มเอียงทางการเมืองได้รับอิทธิพลทางตรงจากความรู้ความเข้าใจทางการเมือง (DE=.24) 2) การมีส่วนร่วมทางการเมืองได้รับอิทธิพลทางตรงจากความรู้ความเข้าใจทางการเมือง (DE=.28) และความโน้มเอียงทางการเมือง (DE= .64) และได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากความรู้ความเข้าใจทางการเมืองผ่านความโน้มเอียงทางการเมือง (IE=.16) และผลการวิเคราะห์โมเดลจำแนกตามมหาวิทยาลัย 9 แห่ง ให้ผลการศึกษาที่สอดคล้องกัน