Abstract:
บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาช่องทางในการสื่อสารที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมถึงศึกษาการรับรู้ และการเปิดรับข่าวสารเรื่องยาเสพติดของผู้ใช้แรงงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด กลุ่มประชากรตัวอย่างในการศึกษาคือผู้ใช้แรงงานของบริษัทคอบร้า อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จำนวน 344 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ และโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุระหว่าง 29-39 ปี ประสบการณ์ในตำแหน่งพนักงานทั่วไป ระยะเวลาในการทำงาน 1-5 ปี
สมมติฐานที่ 1 การรับรู้ และการเปิดรับข่าวสารด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มีผลต่อความรู้เรื่องยาเสพติดของผู้ใช้แรงงาน ในระดับต่ำ โดยมีทิศทางตรงกันข้าม (r = -0.243, p = .000) กล่าวคือการรับรู้ และการเปิดรับข่าวสารด้านการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ไม่ได้มีผลให้ผู้ใช้แรงงานมีความรู้เรื่องยาเสพติดเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้น และการรับรู้ และการเปิดรับข่าวสารด้านการส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติด มีผลต่อความรู้เรื่องยาเสพติดของผู้ใช้แรงงาน ในระดับต่ำ โดยมีทิศทางตรงกันข้าม (r = -0.278, p = .000) กล่าวคือ การรับรู้ และการเปิดรับข่าวสารด้านการส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีผลให้ผู้ใช้แรงงานมีความรู้เรื่องยาเสพติดเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเพิ่มขึ้น ข้อเสนอแนะ การรับรู้และการเปิดรับข่าวสารที่จะเกิดประโยชน์สูงสุด จึงควรเป็นการสื่อสารสองทาง ฉะนั้น ในแง่ของการดำเนินการโครงการลักษณะนี้ ควรมีนโยบายในการให้ความรู้ในลักษณะของการสื่อสารสองทาง โดยอาจจัดซุ้มให้ความรู้ หรือให้คำปรึกษาที่เป็นส่วนตัวร่วมด้วย