Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชน โครงการวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนใน 4 จังหวัดชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง และ ตรวจสอบประสิทธิภาพของสิทธิภาพของวิสาหกิจชุมชน แหล่งข้อมูล คือ (1) ตัวบุคคล ได้แก่ ผู้แทนกรมส่งเสริมการเกษตร ผู้แทนเกษตรจังหวัด ผู้นำวิสาหกิจชุมชน สมาชิกวิสาหกิจชุมชน รวม 93 คน และ (2) เอกสารเกี่ยวข้องกับการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ การวิเคราะห์เอกสาร การสัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่ม การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา ข้อมูลเอกสารใช้วิธีการวิเคราะห์ใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา การสัมภาษณ์และการจัดสนทนากลุ่มวิเคราะห์ด้วยวิธีแบบอุปนัย ผลการวิจัยพบว่า
1. ความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนใน 4 จังหวัดชายแดนลุ่มน้ำโขง พบว่า มี 7 องค์ประกอบ ได้แก่ ทิศทางวิสาหกิจชุมชน การวางแผนดำเนินงาน การบริหารตลาด การจัดการความรู้และข้อมูลข่าวสาร การบริหารสมาชิกวิสาหกิจชุมชน กระบวนการจัดการสิน้คาและบริกร และผลลัพท์การดำเนินงานวิสาหกิจชุมชน
2. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชน พบว่า 2.1 นโยบายส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนได้แก่ นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 ทำให้คณะกรรมการ และมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน 2.2 โครงการวิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จได้แก่ (1) วิสาหกิจชุมชนแม่บ้านกล้วยตากสังคม ตั้งอยู่ หมู่ 1 ตำบลสังคม อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วย (2) วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจากกกเหล่าพัฒนา ที่ตั้งหมู่ 5 และ หมู่ 9 ตำบลเหล่าพัฒนาอำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากต้นกกด้วยการจักสานและทอ (3) วิสาหกิจชุมชนข้าวเกรียบผักผลไม้แม่บ้านเกษตรกรหนองโอใหญ่ที่ตั้งหมู่ 3 บ้านหนองโอใหญ่ ตำบลโนนยาง อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร ด้วยการนำพืชผักผลไม้วัตถุดิบในชุมชนแปรรูปเป็นข้าวเกรียบ และ(4) วิสาหกิจชุมชนตัดเย็บเสื้อผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติแม่บ้านเกษตรกรโนนสว่าง บ้านโนนสว่าง ตำบลโพนงาม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการทอผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติและการแปรรูปผ้าฝ้าย 2.3 ภาวะผู้นำที่มีผลต่อความสำเร็จ ได้แก่ ความเสียสละ สติปัญญาเฉลียวฉลาดรอบรู้กล้าหาญ กล้าตัดสินใจ ซื่อสัตย์สุจริต วิสัยทัศน์กว้างไกล โปร่งใส เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อัธยาศัยไมตรีจริงใจ เป็นแบบอย่าง แก้ไขสถานการณ์ได้ สุขุมรอบคอบ ริเริ่มสร้างสรรค์และมุ่งมั่นวิริยะอุตสาหะ 2.4 ทัศนคติของคนในชุมชนมีผลต่อความสำเร็จ คือ ความอยากมี อยากเป็นและอยากได้ด้วยตัวของตัวเอง ต้องการพึ่งตนเองด้วยการสร้างรายได้ในท้องถิ่นตน 2.5 การบริหารจัดการ พบว่ามีองค์ประกอบได้แก่ (1) วางแผนแบบมีส่วนร่วม (2) จัดองค์กรอย่างกะทัดรัดตามความจำเป็น (3) บริหารตัดการบุคลากรตามความสามารถและความถนัดของคน (4) การอำนวยการสั่งการตามความเหมาะสมและผู้นำมีอำนาจตัดสินใจหากเป็นผลดี (5) การประสานงานอย่างฉันพี่น้องด้วยทัศนคติแบบครอบครัวเดียวกัน (6) การประเมินผลตนเอง และการประเมินผลจากหน่วยงานสังกัด (7) จัดการงบประมาณ ด้วยการระดมจากสมาชิก ขอสนับสนุนจากองค์กรอื่น และผลกำไรจากกิจกรรม (8) จัดการตลาดแบบบูรณาการทั้งรุกและรับด้วยการสร้างแรงจูงใจแก่สมาชิก (9) ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมด้วยความสมดุลระหว่างรายรับ-รายจ่าย 2.6 การมีส่วนร่วมของสมาชิก มีรูปแบบ ดังนี้ ร่วมคิด ร่วมตัดสิน ร่วมดำเนินการ ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมประเมินผล 2.7 หลักพุทธธรรมนำสู่ความสำเร็จ ได้แก่ (1) หลักธรรมประจำใจของปัจเจกชน คือ หลักอิทธิ 4 (2) หลักธรรมสำหรับให้เกิดความสมานสามัคคีมีส่วนร่วมทำให้องค์กรเข้มแข้ง คือ อปริหานิยธรรม 7 และ (3) หลักธรรมสำหรับแก้ปัญหาความยากจน คือ หัวใจเศรษฐี หัวใจเศรษฐี หรือ ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (อุ อา กะ สะ)
3. การวิเคราะห์ศักยภาพ พบว่า (1) จุดเด่น (Strength) ได้แก่ ชุมชนมีทรัพยากรที่สามารถแปลงสินค้าและบริการได้ ประชาชนต้องการมีชีวิตที่ดีขึ้น มีความรักสมานสามัคคีในชุมชน และคนในชุมชนมีส่วนร่วมดี (2) จุดด้อย (Weakness) ได้แก่ ขาดทัศนคติต่อการพึ่งตนเอง ขาดผู้นำชุมชนที่มีคุณภาพ ขาดเงินทุนและวัสดุอุปกรณ์ ขาดการวางแผนเชิงกลยุทธ์ กระบวนการผลิต ตลาดและการจัดการขาดประสิทธิภาพ ชาวบ้านขาดความรู้และสติปัญญา และขาดการจัดการเชิงระบบ (3) โอกาส (Opportunity) ได้แก่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นโยบายและมาตรการของรัฐในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเป็นรูปธรรม ชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน และความเจริญทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน และ (4) อุปสรรค (Threat) ได้แก่ นโยบายของรัฐที่ไม่ต่อเนื่อง ขาดแคลนแรงงานในชุมชน ภาวการณ์แข่งขันทางการตลาดสูง ขาดบุคลากรที่มีคุณภาพเข้ามามีส่วนร่วม และการเสี่ยงกับการลอกเลียนแบบ