Abstract:
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิตในมิติความสุขและนำเครื่องมือวัดความสุขในระดับปัจเจก ที่พัฒนาขึ้นมาไปทดสอบเบื้องต้นกับกลุ่มตัวอย่าง โดยมีระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยเอกสาร (Documentary Research)ใช้ในการพัฒนาตัวชี้วัดโดยวิธีวิเคราะห์เชิงเนื้อหาและการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) เพื่อหาความสัมพันธ์และปัจจัยที่มีผลต่อความสุข วิเคราะห์ปัจจัย (Factor Analysis) โดยใช้สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ประชากรในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดสมุทรปราการ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 300 ตัวอย่าง ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling)
ผลการศึกษาพบว่า องค์ประกอบคุณภาพชีวิตในมิติความสุขในระดับปัจเจก จากการศึกษาแนวทางการสร้างองค์ประกอบพื้นฐาน (Basic Approach) และแนวทางการสร้างองค์เชิงบูรณาการ (Integrated Approach) ประกอบด้วย 11 องค์ประกอบ โดยองค์ประกอบพื้นฐาน ประกอบด้วย 8 องค์ประกอบ คือ เวลาและการใช้เวลาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ สุขภาพกาย สุขภาพใจ ครอบครัว สภาพแวดล้อม การศึกษา/การเรียนรู้ การทำงาน การมีเป้าหมายในชีวิต และตัวแปรอิสระที่สำคัญที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน คือ รายได้ เป็นปัจจัยร่วม และมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับองค์ประกอบพื้นฐานและองค์ประกอบเชิงบูรณาการ เป็นองค์ประกอบเกี่ยวกับการพัฒนาจิตใจ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ คือ ความรู้สึก/อารมณ์ทางบวก ความสงบในจิตใจ ความเชื่อ/ความศรัทธา/การปฏิบัติทางศาสนา ปัจจัยร่วมที่มีความสัมพันธ์ คือ การมีเป้าหมายในชีวิต และครอบครัว