Abstract:
การพัฒนาแหล่งน้ำเป็นการพัฒนาประเทศประการหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มต้นจากการขยายคลองสายต่างๆให้เชื่อมต่อกับแม่น้ำสายหลัก พร้อมทั้งมีการขุดลอปรับปรุงคลองสายเก่าและขุดคลองสายใหม่เพื่อใช้เป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างกรุงเทพกับหัวเมืองใกล้เคียง รวมทั้งใช้เป็นแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์และใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชนตลอดสองฝั่งคลอง ผลที่ตามมาทำให้เกิดการขยายพื้นที่การเกษตร การขยายตัวของราคาที่ดินบริเวณสองฝั่งคลองสูงขึ้น การเกิดเป็นชุมชนใหญ่และขยายเป็นเมือง ทำให้ราษฏรมีรายได้และมีพื้นที่ในการทำการเกษตรมากขึ้น มีผลผลิตจำหน่ายได้ราคาดี ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น การดำเนินการขยายคลองในขณะนั้นทำอย่างเป็นระบบ มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาทำโครงการและทำการสำรวจสภาพปัญหาแหล่งน้ำ รวมทั้งวางแนวแก้ไขปรับปรุงการใช้น้ำของไทย ต่อมามีการจัดตั้งกรมคลองขึ้นเพื่อรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องน้ำ และพัฒนาระบบชลประทานแบบใหม่ มีการสร้างเขื่อน ทำนบ และประตูกั้นน้ำขึ้นหลายแห่ง จากนั้นได้พัฒนากำลังคนด้านการศึกษาวิศวกรรมชลประทาน โดยพระราชทานทุนเล่าเรียนให้ไปศึกษาโดยตรงจากต่างประเทศ เพื่อกลับมาพัฒนาชลประทานของไทยตามแบบสากลในเวลาต่อมา ดังนั้น การพัฒนาแหล่งน้ำจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาชลประทานสมัยใหม่ของไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาสังคมและการพัฒนากำลังคน ด้านการชลประทานเพื่อการพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน