Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ซ้ำที่ไม่ได้ตั้งใจของวัยรุ่นโดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิดอิทธิพลสามองค์ประกอบ รูปแบบการศึกษาเป็น Case – control Study กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ตั้งครรภ์ภายใน 24 เดือน มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตภาคตะวันออก จำนวน 234 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มศึกษา (Case) คือ หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นที่ไม่ได้ตั้งใจตั้งครรภ์ซ้ำ 117 ราย และกลุ่มเปรียบเทียบ (Control) คือ หญิงวัยรุ่นที่ตั้งใจตั้งครรภ์ซ้ำ 117 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามตอบด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลสถิติเชิงพรรณนา และ Binary Logistic Regression ที่ระดับ
ความเชื่อมั่น 95 % ผลการวิจัยพบว่า วัยรุ่นตั้งครรภ์ที่แฟนหรือสามีไม่ต้องการบุตรมีการตั้งครรภ์ซ้ำที่ไม่ตั้งใจสูงเป็น 41 เท่าของวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่แฟนหรือสามีต้องการมีบุตร (OR = 41.02 , 95 % CI = 8.34 – 201.78) วัยรุ่นตั้งครรภ์ที่มีประวัติการคุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอมีการตั้งครรภ์ซ้ำที่ไม่ตั้งใจสูงเป็น 3.34 เท่า ของวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่มีประวัติการคุมกำเนิดที่สม่ำเสมอ (OR = 3.34. , 95 % CI = 1.24 – 9.00) และวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่มีเพื่อนรุ่นเดียวกันตั้งครรภ์ มีการตั้งครรภ์ซ้ำที่ไม่ตั้งใจสูงเป็น 2.24 เท่าของวัยรุ่นตั้งครรภ์ที่ไม่มีเพื่อนรุ่นเดียวกันตั้งครรภ์ (OR = 2.24., 95 % CI = 1.10 – 5.46)
ผลการวิจัยมีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนควรให้ความสนใจดูแลเป็นพิเศษในกลุ่มวัยรุ่นตั้งครรภ์ในชุมชนที่แฟนหรือสามีไม่ต้องการมีบุตร ไม่คุม / คุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอ และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่มีเพื่อนตั้งครรภ์ เพราะปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ซ้ำที่ไม่ตั้งใจของวัยรุ่นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกขณะตั้งครรภ์