Abstract:
การวิจัยผสมปริมาณและคุณภาพนี้ เพื่อศึกษาสมรรถนะและข้อมูลในการกำหนดสมรรถนะนักสาธารณสุขที่คาดหวัง เตรียมรองรับสถานการณ์ประชาชนมีอายุขัยเฉลี่ย 80 ปี เก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการประชุมกลุ่มเฉพาะจากผู้รู้ที่เป็นผู้สูงอายุ 32 คน ศึกษาเอกสารหลักสูตรของ 8 สถาบันการศึกษาสาธารณสุข และสอบถามข้อมูลเชิงปริมาณจากตัวแทนนักสาธารณสุขระดับปริญญาตรีที่ปฏิบัติงานในระดับตำบลที่ได้จากการสุ่มแบบชั้นภูมิตามสัดส่วนประชากรโดยคำนวณขนาดตัวอย่างที่มีความคลาดเคลื่อนไม่เกินร้อยละ 5 ได้ตัวอย่าง 189 คน จาก 4 จังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออก
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแนวคำถาม แบบบันทึก และแบบสอบถามที่ผ่านการวิเคราะห์ความตรง และความเที่ยง ได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า ระหว่าง .91 ถึง .98 วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาในรูปของ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน กราฟเส้นตรง และการเปรียบเทียบรายคู่ (paired t-test) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่าความต้องการของผู้สูงอายุด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณที่นักสาธารณสุขต้องให้บริการ นักสาธารณสุขประเมินสมรรถนะตนเองในปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 70 ในทุกเรื่องยกเว้น การเลือกวิธีสื่อสารที่เหมาะสม การใช้สื่อต่างๆ ในการสื่อสารที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นที่ ความเข้าใจสภาพวัฒนธรรมของสังคมผู้สูงอายุในพื้นที่ การจัดบริการสาธารณสุขที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของผู้สูงอายุให้มีส่วนร่วมกิจกรรมสุขภาพต่างๆ ในชุมชน การประสานงานกับแกนนำผู้สูงอายุ การปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ประยุกต์วิธีการปฏิบัติให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม
การประเมินสมรรถนะตนเองที่ต้องพัฒนา มีค่าเฉลี่ยมากกว่า ร้อยละ 75 ในทุกเรื่องยกเว้นการวิเคราะห์สาเหตุของการเจ็บป่วยด้านสังคม และการสร้างเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพ ซึ่งผลการประเมินทุกสมรรถนะในปัจจุบันต่ำกว่าสมรรถนะที่ต้องพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p<.05 สมรรถนะต่างๆ เหล่านี้มีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตร แต่อาจยังไม่ได้กำหนดเป็นรายวิชาที่ชัดเจน ข้อเสนอในการพัฒนาสมรรถนะและรายวิชาในหลักสูตร ที่จำเป็นคือ การเป็นผู้นำและการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นอันดับแรก รองลงมา คือการปฏิบัติงานเข้าถึงมิติชุมชน ความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น ความรู้ความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ การพัฒนานโยบายและการวางแผน การสื่อสาร การวิเคราะห์ และการประเมินสุขภาพ และการงบประมาณและการบริหารงาน ตามลำดับเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีอายุขัยเฉลี่ย 80 ปี