Abstract:
นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นสมบัติล้ำค่าทางวัฒนธรรม ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่ง สหประชาชาติหรือยูเนสโก(UNESCO) จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานมรดกทางวัฒนธรรม โดยมีคุณสมบัติตรงกับข้อ 3 ที่ว่า "เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฎให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว" ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างงดงาม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชน หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ควรให้ความสนใจ เนื่องจากปัจจุบันกำลังตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกองค์การยูเนสโกถอดออกจากมรดกโลก ด้วยสภาพความเสื่อมโทรมของโบราณสถาน บทความนี้เป็นบทความทางวิชาการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแนวคิดด้านบริหารจัดการมรดกโลก ความเป็นมาของการบริหารจัดการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และในส่วนท้ายได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากการนำประเด็นปัญหาที่ประสบอยู่ในขณะนี้มาเป็นประเด็นในการพิจารณา จำแนกออกเป็น1) ภูมิทัศน์และผังเมือง 2) การกลายเป็นเมือง 3) ตัวโบราณสถาน 4) ความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 5) ขยะมูลฝอย 6) หาบเร่แผงลอย พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อการบริหารจัดการนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาอย่างยั่งยืน