Abstract:
ภาวะปวดกล้ามเนื้อ (delayed onset of muscle soreness) เป็นภาวะที่พบได้ในการออกกาลังกายที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งจะแสดงอาการหลังจากออกกาลังกายเป็นเวลาหลายวัน การยืดกล้ามเนื้อและการแช่น้ำเย็นเป็นวิธีที่สามารถช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้ ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างการยืดกล้ามเนื้อแบบคงค้างและการนวดต่ออาการแสดงของการปวดกล้ามเนื้อเหยียดเข่าหลังกระตุ้นด้วยการออกกำลังกายแบบพลัยโอเมตริกในชายไทยอายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 45 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละเท่า ๆ กัน ได้แก่ กลุ่มยืดกล้ามเนื้อ กลุ่มแช่น้ำเย็น และกลุ่มที่ได้รับการยืดกล้ามเนื้อร่วมกับการแช่น้ำเย็น ซึ่งการรักษาใช้เวลา 20 นาที หลังการออกกำลังกายแบบพลัยโอเมตริก และผู้เข้าร่วมวิจัยจะถูกทดสอบระดับ serum creatine kinase การรับรู้ความเจ็บปวด วัดความยาวรอบวงของขา องศาการเคลื่อนไหวของเข่า กำลังกล้ามเนื้อ quadriceps และความสูงที่กระโดดได้ ทั้งหมด 7 ครั้ง ได้แก่ ก่อนและหลังการออกกำลังกาย, หลังรับการรักษาทันที, 24, 48, 72 และ 96 ชั่วโมงหลังออกกำลังด้วยการกระโดด ผลการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายแบบพลัยโอเมตริกทำให้กล้ามเนื้อถูกทำลาย จากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าตัวแปรต่าง ๆ หลังจากการออกกำลังกายเมื่อเปรียบเทียบกับค่า baseline นอกจากนี้ พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มของค่าการรับรู้ความเจ็บปวดเมื่อยแบบเฉียบพลันหลังได้รับการยืดกล้ามเนื้อ พบการลดลงของอาการบวมในกลุ่มแช่น้ำเย็นที่ 24 ชั่วโมงหลังกระโดด ค่าของความสูงที่กระโดดได้และค่าองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าลดลงในกลุ่มที่ได้รับการรักษาทั้งสองวิธีน้อยกว่ากลุ่มยืดกล้ามเนื้ออย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ที่ 48 และ 72 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย ดังนั้นจากผลของการศึกษาในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าทั้งการยืดกล้ามเนื้อหรือการแช่น้ำเย็นเพียงอย่างเดียวสามารถช่วยรักษาหรือคงไว้ซึ่งสมรรถภาพในการลดบวม เพิ่มความยืดหยุ่น และสมรรถภาพในการกระโดด ในขณะที่การใช้การยืดกล้ามเนื้อร่วมกับการแช่น้ำเย็นไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ลดอาการปวดกล้ามเนื้อในทางปฏิบัติ โดยสรุปการยืดกล้ามเนื้อหรือการแช่น้ำเย็นเป็นวิธีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพของนักกีฬาได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สองวิธีนี้ร่วมกัน