Abstract:
คณะผู้วิจัยทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างกลุ่มสัตว์ทะเลที่มีโลโฟฟอร์ในโครงการวิจัยเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพของกลุ่มสัตว์ทะเลที่มีโลโฟฟอร์ (Lophophorates) บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของไทย” ประจำปีงบประมาณ 2557 โดยสำรวจพื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดระยอง รวม 21 สถานี ระหว่างเดือนกันยายน 2556 ถึงเดือนมิถุนายน 2558 โดยสำรวจช่วงเวลากลางวันด้วยการดำน้ำแบบ scuba diving ดำน้ำแบบผิวน้ำและเดินสุ่มสำรวจ ตั้งแต่ชายฝั่งทะเลออกไปจนถึงขอบนอกแนวในแต่ละระบบนิเวศ จากการสำรวจพบตัวอย่างกลุ่มสัตว์ทะเลที่มีโลโฟฟอร์ 2 ไฟลัม คือ ไฟลัม Brachiopoda พบ 1 ชนิดคือ หอยปากเป็ด, Lingula cf. anatine และไฟลัม Bryozoa พบ 44 ชนิดจาก 1 ชั้น (Class Stenolaemata), 1 อันดับ (Order Cheilostomatida), 14 วงศ์ 15 สกุล ไบรโอซัวที่สามารถจำแนกชนิดได้จำนวน 30 ชนิดซึ่งจำแนกในระดับสกุล ได้แก่ Antropora พบ 4 ชนิด, Bryopesanse 1 ชนิดคือ Bryopesanser pesanseris smitt, 1873, Celleporaria 3 ชนิด, Ellisina 1 ชนิด, Exechonella 3 ชนิด, Hippopodina 1 ชนิด, Onychocella 1 ชนิด, Parasmittina 3 ชนิดสามารถจำแนกชนิดได้ 1 ชนืดคือ Parasmittina barbadensis (Winston & Woollacott, 2009), Membranipora 3 ชนิด, Microporella 1 ชนิดคือ Microporella ciliata Pallas, 1766, Rhynchozoon 5 ชนิด, Schizomavella 1 ชนิด, Smittipora 1 ชนิด, Scrupocellaria 1 ชนิด และ Trypostega 1 ชนิด ไบรโอซัวที่รายงานครั้งแรกในน่านน้ำไทยคือ Bryopesanser pesanseris Parasmittina barbadensis และ Microporella ciliate ไบรโอซัวที่พบการแพร่กระจายมากที่สุดคือ สกุล Parasmittina (116 โคโลนี, 48%) รองลงมาคือสกุล Microporella (32 โคโลนี, 13%) และสกุล Rhynchozoon (31 โคโลนี, 12.8%) ตามลำดับ จากการศึกษาพบว่าไบรโอซัวมีการแพร่กระจายอยู่บนเปลือกหอย เศษซากหรือวัตถุใต้น้ำในแนวปะการัง และรูปทรงการเจริญแบบเคลือบเป็นไบรโอซัวกลุ่มเด่น นอกจากนี้ยังพบไบรโอซัวที่ยังไม่สามารถจำแนกชนิดได้จำนวน 14 ชนิด การจำแนกชนิดไม่สามารถจำแนกลงถึงระดับชนิดได้เนื่องจากลักษณะทางสัณฐานวิทยาของตัวอย่างไม่สอดคล้องกับชนิดในข้อมูลและเอกสารอ้างอิงและยังไม่ได้รับการยืนยันชนิดจากนักวิจัยที่ปรึกษา