Abstract:
วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อ 1) พัฒนารูปการเรียนรู้แบบนำตนเองของนักศึกษาวิทยาลัยชุมชน โดยใช้กระบวนการศึกษาบทเรียน และ 2) ศึกษาผลที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในด้านผลสัมฤทธิ์การเรียน ด้านความสามารถการเรียนรู้แบบนำตนเอง และความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการเรียนรู้แบบนำตนเอง ฯ
กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้บริหาร ผู้สอน และนักศึกษาของวิทยาลัยชุมชน 8 แห่ง ซึ่งได้จากการสุ่มแบบจับสลาก จากกลุ่มประชากรวิทยาลัยชุมชน 20 แห่ง ทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นกลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลเพื่อออกแบบรูปแบบ และกลุ่มตัวอย่างทดลองใช้และปรับปรุงรูปแบบ
เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล คือ 1) แบบวัดผลสัมฤทธิ์การเรียน 2) แบบวัดความสามารถ การเรียนรู้แบบนำตนเอง และ 3) แบบสอบถามความคิดเห็น/พึงพอใจ ต่อรูปการเรียนรู้แบบนำตนเอง ของนักศึกษาวิทยาลัยชุมชน ซึ่งทุกฉบับมีค่าความเชื่อมั่นมากกว่า 0.80
ขั้นตอนการวิจัย ; ศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ใช้วิธีการสนทนากลุ่ม (Focus group) เพื่อศึกษาสภาพการเรียนการสอนของวิทยาลัยชุมชนที่เป็นอยู่ขณะดำเนินการวิจัย วิเคราะห์หาแนวทาง การจัดการเรียนรู้แบบนำตนเองของนักศึกษาวิทยาลัยชุมชน และร่างรูปแบบการเรียนรู้แบบนำตนเองของนักศึกษาวิทยาลัยชุมชน จากนั้นนำรูปแบบไปทดลองใช้และปรับปรุง 7 ครั้ง/รอบ กับผู้สอนและนักศึกษาวิทยาลัยชุมชน 3 แห่ง โดยทดลองภายใต้การควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลรบกวน 4 กลุ่ม และทดลองในสถานการณ์การเรียนการสอนปกติตามตารางสอนตลอด 1 ภาคเรียน จำนวน 3 กลุ่ม
ผลการวิจัย 1) ได้รูปแบบการเรียนรู้แบบนำตนเองของนักศึกษาวิทยาลัยชุมชน ดังรูป
2) เมื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียนก่อนและหลังเรียน ของการทดลองกลุ่มเล็กทั้ง 4 กลุ่ม ซึ่งได้ทำการควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลรบกวน รวมอีก 3 กลุ่มซึ่งการทดลองในสถานการณ์การเรียนการสอนปกติตามตารางสอนตลอด 1 ภาคเรียน พบว่าทุกกลุ่มมีผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ความสามารถการเรียนรู้แบบนำตนเองของนักศึกษาแต่ละคนสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลสำรวจความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนแบบนำตนเอง อยู่ในระดับ มากถึงมากสุด
3) นักศึกษาแต่ละคนมีพฤติกรรมการเรียนหลายอย่างที่แตกต่างจากการเรียนการสอนแบบเดิมอย่างชัดเจน เช่น ความสนใจกระตือรือร้นต่อการเรียน การเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยยึดวัตถุประสงค์ ความทุ่มเททำงานที่รับมอบหมายให้มีคุณภาพและประณีต ความรู้ที่ได้รับจะมีปริมาณมากครอบคลุมทั้งแนวกว้างและลุ่มลึก การเรียนรู้ร่วมกันแบบเป็นกลุ่ม เป็นต้น รวมทั้งเกิดการพัฒนา คุณลักษณ์ที่พึงประสงค์ด้านต่างๆ มากกว่าเดิมชัดเจนมาก เช่น วินัย ความรับผิดชอบ ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และเครื่องมือสื่อสาร ทักษะการค้น/วิเคราะห์/และสรุปข้อมูล ทักษะการเขียน ทักษะ การนำเสนอ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดวิจารณญาณ เป็นต้น
ข้อสรุปสำคัญจากการวิจัย คือ การเรียนรู้แบบนำตนเองเหมาะสมกับการเรียนการสอนของวิทยาลัยชุมชนมาก โดยเฉพาะรายวิชาที่ผู้เรียนมีความรู้และประสบการณ์มาบ้างแล้ว เพราะนักศึกษา อยู่ในวัยผู้ใหญ่ มีความรับผิดชอบและเป็นตัวของตนเอง ต้องการเรียนรู้ในเรื่องที่สำคัญและมีประโยชน์ ต่อตนเอง แต่ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนต้องมีความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้แบบนำตนเอง และในการเรียนการสอนครั้งแรกทั้งผู้สอนและผู้เรียนอาจประสบปัญหาบ้าง เพราะการเรียนรู้แบบนำตนเองมีวิธีการเรียนการสอน แตกต่างจาก
การการเรียนการสอนที่วิทยาลัยชุมชนใช้กันอยู่ขณะดำเนินการวิจัยค่อนข้างมาก