Abstract:
การศึกษาเชิงการทดลอง นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมป้องกันการเริ่มต้นสูบบุหรี่ที่ใช้โรงเรียนเป็นฐานในวัยรุ่นตอนต้น จ.ชลบุรี โดยใช้แนวทางคิดนิเวศวิทยาสำหรับพฤติกรรมสุขภาพ(Ecological framework for health behavior) แบบจำลองการวางแผน ส่งเสริมสุขภาพ (PRECEDE-PROCEED model) เป็นแนวทางในการจัดดำเนินการเพื่อป้องกันการเริ่มต้นสูบบุหรี่ของนักเรียน กลุ่มตัวอย่าง คือนักเรียนมัธยมศึกษาที่ 1 ถึง 3 ที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนขยายโอกาส จำนวน 400 คน ใน 3 โรงเรียน ในปีการศึกษา 2556 ที่มีลักษณะ ประเภทและขนาดของโรงเรียน รวมทั้งความชุกของการสูบบุหรี่ของนักเรียนใกล้เคียงกัน แบ่งเป็นโรงเรียนกลุ่มทดลองหนึ่งโรงเรียน (200 คน) และโรงเรียนกลุ่มควบคุมสองโรงเรียน (200 คน) โดยใช้วิธีการจับคู่แบบกลุ่ม (group-matching) ด้วยเรื่องเพศ และ ระดับการศึกษา กลุ่มควบคุมได้รับการเรียนการสอยเกี่ยวกับสุขภาพตามมาตรฐานของหลักสูตร ในขณะกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมป้องกันการเริ่มต้นสูบบุหรี่ที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน ที่ผู้วิจัยได้ออกแบบหลายระดับชั้น (multi-level intervention) วัดผลจากการเปลี่ยนแปลงของการรับรู้ความชุกของการสูบบุหรี่ การรับรู้ความสามารถของตนในการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การรับรู้ภาพลักษณ์ทางสังคมเชิงบวกต่อคนสูบบุหรี่ ความตั้งใจในการสูบบุหรี่และเลิกสูบบุหรี่ รวมทั้งพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เก็บรวบรวม ข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ตอบได้ด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ทดสอบสมมุติฐานด้วยสถิติ Chi-square test, Independent t-test, และสถิติวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ (Repeated Measure ANOVA)
ผลการวิจัยพบว่าเมื่อสิ้นสุดการทดลอง และติดตามประเมินอีกสามเดือน นักเรียนที่ได้รับโปรแกรมป้องกันการเริ่มต้นการสูบบุหรี่ที่ใช้โรงเรียนเป็นฐาน มีคะแนนเฉลี่ยการรับรู้ความชุกของการสูบบุหรี่ และความตั้งใจในการสูบบุหรี่ต่ำกว่ากลุ่มที่รับการสอนแบบปกติ (F= 5.981 P<.01; F=5.62, p<.01 ตามลำดับ) ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงคะแนนเฉลี่ยเล็กน้อยในด้านการรับรู้ความสามารถของตนในการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ การรับรู้ภาพลักษณ์ทางสังคมเชิงบวกต่อคนสูบบุหรี่และความตั้งใจในการเลิกสูบบุหรี่ ด้านพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เมื่อติดตามไปสามเดือนหลังสิ้นสุดการทดลอง กลุ่มทดลองมีสัดส่วนการทดลองสูบและสูบไม่ประจำต่ำกว่ากลุ่มควบคุม (15.5% vs 31%).
ผลงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นผลประโยชน์ของการดำเนินกิจกรรมแบบหลายระดับ (Multi-level intervention) มีผลต่อการยับยั้งการทดลองสูบบุหรี่ในวัยรุ่นตอนต้น โปรแกรมสามารถลดความตั้งใจในการทดลองสูบบุหรี่และปรับเปลี่ยนการรับรู้บรรทัดฐานเกี่ยวกับการสูบบุหรี่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติ การรับรู้ความสามารถของตนในการหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่การสูบบุหรี่ได้ และความตั้งใจในการเลิกสูบบุหรี่ได้