Abstract:
ที่มาของปัญหา ภาวะโพแทสเซียมต่ำพบได้ร้อยละ 15-60 ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆเช่น อ่อนแรง ทุพโภชนาการ และเสียชีวิต ยังไม่มีการรักษามาตรฐานสำหรับภาวะนี้ ยาspironolactone เป็นยาขับปัสสาวะออกฤทธิ์ต้าน aldosterone ที่ทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้นในคนปกติได้
วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบระดับโพแทสเซียมในเลือดของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องที่มีระดับโพแทสเซียมต่ำ ก่อนและหลังได้รับยา spironolactone ขนาด 25 มก.ต่อวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์
วิธีวิจัย เป็นการศึกษาแบบ randomized, double-blinded, placebo-controlled, cross over study ใน ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ใช้ยา spironolactone ขนาด 25 มก.ต่อวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ สลับกับยาหลอก 4 สัปดาห์เว้นช่วง 2 สัปดาห์ วัดผลการศึกษาด้วยระดับโพแทสเซียม แมกนีเซียม ในเลือดก่อนและหลังได้รับยารวมทั้งปริมาณการขับโพแทสเซียมทางปัสสาวะและน้ำยาล้างท่อไตทางช่องท้อง ผลการศึกษา จากอาสาสมัคร 24 ราย มี 20 รายที่อยู่จนจบการศึกษา มี 10รายที่ไม่มีปัสสาวะ ปริมาณโพแทสเซียมทดแทนที่ได้รับไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่ม ระดับโพแทสเซียมในเลือดก่อนและหลังการักษาในกลุ่ม spironolactone กับยาหลอกไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (4.23+/-0.64 vs. 3.90+/-0.59 mEq/L for spironolactone p=0.077 and 3.84+/-0.62 vs. 3.91+/-0.52 for placebo p=0.551) ปริมาณการขับโดพแทสเซียมออกทางปัสสาวะและน้ำยาล้างไตทางช่องท้องก็ไม่แตกต่างกัน มีอาสาสมัคร 1 รายมีโพแทสเซียมสูงกว่า 5.5 mEq/L แต่กลับสู่ภาวะปกติเมื่อหยุดโพแทสเซียมทดแทน
สรุป spironolactone ขนาด 25มก. ต่อวันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ไม่มีผลต่อระดับโพแทสเซียมในเลือดของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ