Abstract:
การประเมินผลการเรียนรู้ ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังเป็นปัญหาสำหรับครูในโรงเรียน เนื่องจากครูยังจำเป็นต้องการความรู้ ทักษะในการพัฒนาเครื่องมือประเมินผลการเรียนรู้ ที่มากกว่าความรู้ ความจำ คณะกรรมการสภา วิจัยแห่งชาติ สาขาการศึกษาจึงพิจารณาเห็นควรให้มีการวิจัย โดยมีวัตถุประสงค์ของแผนงานวิจัย คือ 1. เพื่อศึกษาสภาพการประเมินผลการเรียนรู้ ระดับสูง ของครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 2. เพื่อพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาครู ชุดฝึกอบรมพัฒนาครู การประเมินผลการเรียนรู้ระดับสูงสำหรับครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีวัตถุประสงค์ย่อยเพื่อ (1) เสริมสร้างความรู้ ทักษะในการประเมินผลการเรียนรู้ระดับสูง ด้วยการฝึกอบรมพัฒนาให้แก่ครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
(2) นิเทศ ติดตาม ประเมินผลด้านการประเมินผลการเรียนรู้ระดับสูงของครู จากผลการเรียนรู้ของผู้เรียน (3) เผยแพร่องค์ความรู้ ด้านการพัฒนาการวัดและประเมินผล แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการวิจัยครั้งนี้มีระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการวิจัยมี 2 วิธี คือ การวิจัยเอกสาร (documentary research) และการวิจัยภาคสนาม (field research) โดยใช้สารสนเทศที่ได้จาก ก) การวิจัยเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องทั้งของไทยและต่างประเทศจำนวนมากกว่า 50 เล่ม และ ข) ผลจากการฝึกอบรมพัฒนาครูด้านการประเมินผลการเรียนรู้ ระดับสูง และนิเทศติดตามการประเมินผลการเรียนรู้ ระดับสูงของครู จากโรงเรียนนำร่อง 11 โรงเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
ผลการวิจัย พบว่า 1) สภาพการประเมินผลการเรียนรู้ ของครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานใช้เครื่องมือวัดผลการเรียนรู้ ในระดับความรู้ความจำเป็นส่วนใหญ่ ใช้ชนิดแบบทดสอบเลือกตอบ โดยมีการดำเนินการหาคุณภาพเครื่องมือบางครั้ง และมีปัญหาในการพัฒนาการเครื่องมือวัดผลในรูปแบบใหม่ๆ 2) หลักสูตรการพัฒนาครู ชุดฝึกอบรมพัฒนาครู การประเมินผลการเรียนรู้ระดับสูงสำหรับครู มีการจัดการฝึกอบรมพัฒนาครู รวม 4 ครั้ง ผลการจากฝึกอบรมพัฒนาครูในโรงเรียนสามารถพัฒนาเครื่องมือประเมินผลการเรียนรู้ในชั้นเรียนรามเรียนแนวทาง CATs
(Classroom Assessment Techniques) สามารถพัฒนาการเรียนรู้ ระดับสูงได้ 3) การนิเทศ ติดตาม พบว่า ครูสามารถนำเครื่องมือประเมินผลการเรียนรู้ระดับสูง ไปใช้ในการเรียนการสอน และทำให้นักเรียนเกิดทักษะการเรียนรู้ ด้วยกระบวนการคิดเพิ่มขึ้น โดยผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดในกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ4) มีการขยายเครือข่ายการอบรมให้ความรู้แก่ครู ในกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น นอกเหนือจากกลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก 5 กลุ่ม และเพิ่มเติมครูในสังกัดกรุงเทพมหานคร ข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญแก่ครูในการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการคิด และส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมพัฒนาครู ด้านการประเมินผลการเรียนรู้ ระดับสูง โดยนำหลักสูตรที่พัฒนาขี้นไปขยายผล และมีการอบรม นิเทศ ติดตามให้คำปรึกษาแก่ครู อย่างต่อเนื่อง