Abstract:
วัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยในครั้งนี้คือ ศึกษาถึงการออกแบบระบบบำบัดน้ำทางชีวภาพในโรงเรือนที่เหมาะสมกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยการใช้สาหร่ายขนาดใหญ่ การศึกษาในครั้งนี้แบ่งออกเป็นหัวข้อใหญ่ของการวิจัย ดังนี้ 1) ศึกษาการดูดซึมของเสียจำพวกแอมโมเนียของสาหร่ายขนาดใหญ่โดยใช้หลักการจลนพลศาสตร์ 2) ศึกษาสรีรวิทยาของสาหร่ายขนาดใหญ่ เพื่อการดูดซึมของเสียจำพวกแอมโมเนีย 3) ศึกษาวิธีการประเมินการเจริญเติบโตของสาหร่ายขนาดใหญ่โดยใช้เทคนิคการถ่ายภาพ และ 4) นำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาออกแบบระบบบำบัดน้ำทางชีวภาพในโรงเรือนที่เหมาะสมในกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่อไป
ในเล่มวิจัยนี้ได้รวบรวมผลการวิจัยที่เกี่ยวกับการดูดซึมของจำพวกแอมโมเนียของสาหร่ายขนาดใหญ่ โดยใช้หลักการจลนพลศาสตร์ ผลการทดลองพบว่า สาหร่ายฝอยขัดหม้อใหญ่มีความสามารถในการปรับตัวต่อความเค็มได้ดีกว่าสาหร่ายผักกาดทะเล โดยพบว่าสาหร่ายฝอยขัดหม้อเจริญเติบโตได้ในความเค็ม 10 ppt ในขณะที่สาหร่ายผักกาดทะเลไม่สามารถทนได้ในการทดลองในสภาพห้องปฏิบัติการสาหร่ายฝอยขัดหม้อใหญ่มีความสามารถในการดูดซึมแอมโมเนียมากกว่าสาหร่ายผักกาดทะเลโดยมีค่า V max และ K m เท่ากับ 12.820 mg/g(fw)day และ 0.228 mg-N/L ในขณะที่สาหร่ายผักกาดทะเลมีค่าเท่ากับ 0.891 mg/g(fw)/day และ 0.016 mg-N/L ตามลำดับ ความเข้มแสงสว่างมีผลต่อการดูดซึมของเสียจำพวกแอมโมเนีย โดยพบว่าที่ระดับความเข้มแสง 10,000 ลักซ์ ส่งผลให้การดูดซึมดีกว่า 5,000 ลักซ์ และแสงธรรมชาติตามลำดับ