Abstract:
การพัฒนารูปแบบและกลวิธีที่เหมาะสมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในจังหวัดชลบุรี (Developing Appropriate Models and Strategies for HIV/AIDS Prevention and Alleviation of Men who have sex with men in Chon Buri Province) เกิดขึ้นเนื่องจากสภาพการณ์ปัจจุบัน การติดเชื้อ HIV รายใหม่มีสัดส่วนสูงมากในกลุ่มนี้โดยเฉพาะเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
ลักษณะของกลุ่มเป้าหมาย
สถานการณ์ความชุกของโรค HIV/AIDS นับเป็นประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะในกลุ่มชายรักชาย (Men who having Sex with Men: MSM) ในกลุ่ม MSM ในระดับนานาชาติ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเพราะยังมีการศึกษาค่อยข้างน้อย อย่างไรก็มีผลการศึกษาออกมาบ้าง เช่น จากการศึกษาของ Schwarcz et al. (2007) ศึกษาเรื่อง Prevalence of HIV infection and predictors of high-transmission sexual risk behavior among MSM โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นกลุ่ม MSM ในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา จำนวน 1,976 คน พบว่าสถิติการติดเชื้อ HIV/AIDS เท่ากับ ร้อยละ 25.2
ในระดับนานาชาติพบว่า ปัญหาด้านพฤติกรรมทางเพศของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายยังคงมีปัญหาในระดับสูง จากการศึกษาของ Lie et al. (2007) ศึกษาเรื่อง Men who have sex with men and human immunodeficiency virus/sexually transmitted disease control in China ในประเทศจีน พบว่ากลุ่ม MSM มีความเสี่ยงสูงสำหรับ HIV/STD และประชากรกลุ่มนี้ยังขาดความตระหนักถึงภาวะเสี่ยงดังกล่าว หรือจากการศึกษาของ Caceres, Konda, Pecheny, Chatterjee, and Lyerla (2006) ศึกษาเรื่อง Estimating the number of men who having sex with men in low and middle income countries โดยเป็นการศึกษาวิเคราะห์ถึงเอกสารวิชาการและการวิจัยทั้งที่ตีพิมพ์และไม่ตีพิมพ์ จำนวน 561 เอกสาร พบว่ากลุ่ม MSM มีพฤติกรรมทางเพศที่มีความเสี่ยงสูง ร้อยละ 40-60 ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรปตะวันออก และกลุ่มลาตินอเมริกา และสูงถึงร้อยละ 70-90 ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้
ประเทศไทยได้รับความชื่นชมจากประชาคมนานาชาติจากความสำเร็จในการควบคุมการแพร่กระจายของโรคเอดส์ แต่จากข้อมูลการศึกษาพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เกินกว่าครึ่งหนึ่งของการติดเชื้อรายใหม่เกิดจากการติดเชื้อระหว่างสามีภรรยา หรือระหว่างคู่นอน รองลงมาเป็นการติดเชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย การเฝ้าระวังความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีและพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในประเทศไทย เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2546 ในกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้จัดทำอีกครั้งในปี 2548 โดยในปีนี้ได้ขยายการสำรวจไปยังจังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ต ผลการเฝ้าระวังพบว่า กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมีการติดเชื้อเอชไอวีค่อนข้างสูงคือร้อยละ 17.3 ในปี 2546 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 28.3 ในปี พ.ศ. 2548 (สำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรคติดต่อกระทรวงสาธารณะสุข, 2551) ผลการเฝ้าระวังแสดงให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายยังคงอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการศึกษาในประเทศลาติน อเมริกา 20 ประเทศ พบว่าการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายได้รับการสนับสนุนงบประมาณในสัดส่วนที่น้อยมาก ทั้งๆที่คนกลุ่มนี้เป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มีการติดเชื้อเอชไอวีสูง (UNAIDS, 2009) จากการศึกษาเรื่องสัมพันธภาพในครอบครัวกับปัญหายาเสพย์ติดและพฤติกรรมทางเพศของนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาในภาคตะวันออก โดยกุหลาบ รัตนสัจธรรม วิไล สถิตเสถียร
ถิรพงษ์ ถิรมนัส พัชนี สุวรรณศรี (2540) พบว่าร้อยละ 9 ผิดหวังที่เกิดมามีเพศที่เป็นอยู่ มากกว่า 25% เห็นว่าการรักร่วมเพศเป็นเรื่องปกติ เป็นทางออกทางหนึ่งความต้องการทางเพศ และมีผลการศึกษาจำนวนมากพบว่ากลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่วัยรุ่นและมีคู่เพสสัมพันธ์จำนวนหลายคน ในในขณะเดียวกันมีจำนวนมากที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศหญิงด้วยในขณะเดียวกัน หรือชายจำนวนมากมีเพศสัมพันธ์กับหญิงหรือชายอื่นขณะภรรยาอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ (Kong, 2008; Tamang, 2006; Toole et al., 2005) อันเป็นพฤติกรรมเสี่ยงต่อการระบาดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์มากยิ่งขึ้น
จังหวัดชลบุรีมีบริบททางสังคมและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจในด้านการเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของภาคตะวันออก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวและการศึกษา โดยมีสถาบันการศึกษาจำนวนหลายสถาบันมีแหล่งท่องเที่ยวและสถานบันเทิงจำนวนมาก จากการวิเคราะห์แนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวี โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย (2552) พบว่าแนวโน้มการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน ในจังหวัดชลบุรี เป็นกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงสูงสุด แต่พบว่ายังขาดข้อมูลการติดเชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและพฤติกรรมการป้องกันทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะในสถาบันในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นนับเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรแก่การศึกษา เนื่องจากมีผลกระทบต่อการระบาดของโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนั้นยังไม่มีการศึกษาเชิงพัฒนาโปรแกรมเพื่อแก้ไขปัญหาในกลุ่มดังกล่าวในประเทศไทยที่ชัดเจน
ดังนั้นการพัฒนารูปแบบและกลวิธีที่เหมาะสมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเอดส์ในกลุ่มนิสิตระดับอุดมศึกษา จังหวัดชลบุรี (Developing Appropriate Models and Strategies for HIV/AIDS Prevention and Alleviation of Men who have sex with men in Chon Buri Province) ได้แก่ การศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการป้องกันโรคเอดส์กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในระดับอุดมศึกษา ตลอดจนการจัดอบรมแกนนำชายรักชายในสถาบันระดับอุดมศึกษา จึงเป็นแนวทางและกลวิธีที่เหมาะสมหนึ่งในการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายต่อไป
กลวิธีการดำเนินการ
แนวทางการดำเนินการได้วางแผนจัดทำใน 2 ส่วนได้แก่
ส่วนที่ 1 การสำรวจข้อมูลด้านพฤติกรรมการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ในสถาบันระดับอุดมศึกษา
ส่วนที่ 2 การอบรมแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในสถาบันระดับอุดมศึกษา
ส่วนที่ 1 การสำรวจข้อมูลด้านพฤติกรรมการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ในสถาบันระดับอุดมศึกษา
วัตถุประสงค์ของการดำเนินการ เพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านความชุกของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในนิสิตระดับอุดมศึกษา เพื่อศึกษาความรู้และเจตคติต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์พฤติกรรมทางเพศ และพฤติกรรมการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ของนิสตทั่วไปและกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
ส่วนที่ 2 การอบรมแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในสถาบันระดับอุดมศึกษา
ในส่วนที่ 2 เป็นการจัดโครงการชื่อ เพื่อนช่วยเพื่อน ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (Peer Educators) ในสถาบันระดับอุดมศึกษา
วัตถุประสงค์ของการดำเนินการ เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านการควบคุมและป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน และพัฒนาทักษะเพื่อใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน
การพัฒนาสมรรถนะผู้ให้บริการ
การจัดเตรียมหลักสูตรการอบรม การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อนบทบาทแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน และการพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษาการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และโรคเอดส์
การดำเนินการต่อเนื่อง
การสร้างแกนนำและขยายเครือข่ายเพื่อนช่วยเพื่อน ตลอดจนถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นระยะและถอดบทเรียนให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องและยั่งยืน
สัมฤทธิ์ผลของโครงการ
ในการดำเนินงานด้านการควบคุมและป้องกันโรคเอดส์ในกลุ่มชายรักชาย โดยเน้นประเด็นในกลุ่มนิสิตระดับอุดมศึกษา นับเป็นสิ่งที่ท้าทายและมีหน่วยงานที่ให้ความสนใจในการดำเนินงานมากขึ้น เนื่องจากในสภาวการณ์ปัจจุบันกลุ่มเยาวชนนับเป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มหนึ่งต่อการติดเชื้อเอดส์และโรคติดต่อทางเพสสัมพันธ์ แต่ยังขาดข้อมูลในกลุ่มดังกล่าวและการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในกลุ่มดังกล่าวที่ชัดเจน ดังนั้นการดำเนินงานในครั้งนี้จึงเป็นการเริ่มต้นที่ดี และพบว่ามีเครือข่ายที่ดำเนินการในกลุ่มเป้าหมายนี้แม้ว่าจะยังเป็นการดำเนินการในกลุ่มชายบริการ (Men Sex Worker, MSW) แต่สามารถนำมาประยุกต์และช่วยในการดำเนินการกับกลุ่มชายรักชาย โดยต้องปรับให้เหมาะสมสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่อไป
ข้อจำกัด
1. การสร้างความร่วมมือ/การดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนและกำหนดบทบาทในการทำงาน ยังไม่สามารถบูรณาการตามที่วางแผนไว้ จึงทำให้แผนการดำเนินงานเกิดความคลาดเคลื่อน
2. การบริหารจัดการด้านระยะเวลาและงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถที่จะดำเนินการโครงการได้อย่างเต็มศักยภาพ
ข้อเสนอแนะ
1. ในการทำงานเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาเอดส์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ควรมีการสำรวจข้อมูลด้านพฤติกรรมการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในสถาบันระดับอุดมศึกษา เพื่อให้เข้าใจสภาพปัญหาและนำไปสู่การวางแผนดำเนินการที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายต่อไป
2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคและสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา รวมถึงเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนให้จัดการอบรมให้ความรู้และสร้างความตระหนักถึงพฤติกรรมเสี่ยงและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ของกลุ่มเยาวชนชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
3. พัฒนาศักยภาพของเยาวชนโดยการจัดอบรมแกนนำอาสาสมัคร ตามหลักสูตรในโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (Peer Educators) ในสถาบันระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา รวมถึงโรงเรียนต่างๆให้เป็นเครือข่ายในการลดพฤติกรรมเสี่ยงและการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ของกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยกิจกรรมจะต้องมีความต่อเนื่องและเกิดการมีส่วนร่วมอย่างสูงสุดในเยาวชน
4. เพิ่มการเข้าถึงถุงยางอนามัย และสารหล่อลื่น ในสถาบันและหน่วยงานต่างๆ โดยสร้างความเข้าใจในทุกระดับถึงความสำคัญของการป้องกันโรคติดต่อทางเพสสัมพันธ์และเอดส์ และลดอคติว่าเป็นการส่งเสริมการมีเพศสัมพันธ์
5. สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัด ร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคประสานความร่วมมือและกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชนและท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์